เชลล์ จับมือ เอสซีจี เคมิคอลส์ พัฒนา “บรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นรักษ์โลก”เดินหน้าส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เชลล์ จับมือ เอสซีจี เคมิคอลส์ พัฒนา “บรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นรักษ์โลก”เดินหน้าส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 


กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 – บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ตอบรับ เทรนด์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เดินหน้าพัฒนา “บรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นรักษ์โลก” ซึ่งพัฒนาจากนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) มีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาวะการขนส่ง สามารถคงมาตรฐานน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพระดับโลกไว้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตอกย้ำยุทธศาสตร์ “Powering Progress” ของเชลล์ในการเดินหน้าขับเคลื่อนสู่ธุรกิจพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการภายในปี พ.ศ. 2593 โดยบรรจุภัณฑ์นี้เกิดจากการนำพลาสติกครัวเรือนใช้แล้วมาหมุนเวียน และปรับปรุงคุณสมบัติด้วยสูตรเฉพาะ ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ ESG (Environmental, Social and Governance) ลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและปริมาณขยะสะสม สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขานรับนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ


นางสาววีธรา ตระกูลบุญ กรรมการบริหาร ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะให้กับเครื่องยนต์และเครื่องจักรแล้ว ลูกค้าต่างก็มองหาแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชลล์ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานระดับโลก และ
แบรนด์ผู้จัดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกัน 15 ปีซ้อน รวมถึงเจ้าของรางวัล TAQA Award ประเภทน้ำมันหล่อลื่น 8 ปีซ้อน เดินหน้าตอบสนองความต้องการของลูกค้า ผ่านการร่วมมือกับเอสซีจี เคมิคอลส์ หนึ่งในพันธมิตรหลักของเชลล์ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นรักษ์โลกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์ใหม่ทุกชิ้นจะยังคงคุณภาพมาตรฐานน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์ ช่วยให้เครื่องยนต์และเครื่องจักรทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ด้านการขนส่งที่สะดวก การใช้งานที่ปลอดภัย และรูปลักษณ์ที่สวยงาม พร้อมขานรับนโยบายภาครัฐ สอดคล้องกับกลยุทธ์ ‘Powering Progress’ ของเชลล์ในการผนึกความร่วมมือ สร้างคุณค่าให้กับพันธมิตรทุกภาคส่วน และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหมุนเวียนกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ โดยปัจจุบันเชลล์เริ่มใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงในบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เชลล์มีสัดส่วนการใช้งานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในการผลิตบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 25% ช่วยลดปริมาณขยะในปีนี้ได้สูงมากถึง 320 ตัน”


นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ เอสซีจี เคมิคอลส์ เผยว่า “สำหรับความร่วมมือกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ในการพัฒนา ‘บรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นรักษ์โลก’ จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงนั้น เป็นการนำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนมาผ่านกระบวนการ และปรับปรุงคุณสมบัติด้วยสูตรเฉพาะ (Formulation) ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG GREEN POLYMERTM) ซึ่งสามารตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกนี้ได้ โดยผ่านการรับรองจาก Global Recycled Standard (GRS) นับเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลใช้พลังงานน้อยกว่า และยังช่วยลดการเผาขยะเพื่อกำจัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน’ ของเอสซีจี เคมิคอลส์ อีกด้วย”


“บรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นรักษ์โลก” ได้นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นคุณภาพสูงของเชลล์ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์เชลล์ เฮลิกส์ ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องสำหรับรถบรรทุกงานหนักเชลล์ ริมูล่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องสำหรับรถจักรยานยนต์เชลล์ แอ๊ดว้านซ์ และผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นสำหรับเกียร์และเพลาเชลล์ สไปเร็กซ์ ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าใหม่ให้กับพลาสติกใช้แล้วในครัวเรือนให้มีโอกาสได้หมุนเวียนกลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ สอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของภาครัฐในการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ลดการใช้ทรัพยากร และปริมาณขยะสะสมในประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของวิกฤติภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งในที่สุด

ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

Related posts