โรคเก๊าท์ ปวดข้อเรื้อรังกับอันตรายที่มองไม่เห็น

โรคเก๊าท์ ปวดข้อเรื้อรังกับอันตรายที่มองไม่เห็น

 

นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์กลุ่มงานศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ กล่าวถึงโรคเก๊าท์ว่าเป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยและมักเจอในคนอายุ 30-40 ปี ขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 9 เท่า อาการของโรคเก๊าท์คือ มักมีอาการปวดทีละข้อ ซึ่งตำแหน่งที่ปวดและพบได้บ่อย คือ ข้อนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า


สาเหตุของโรคเก๊าท์ เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในข้อต่อและเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดอาการได้ดังต่อไปนี้
– ปวดข้อรุนแรง โดยเฉพาะที่ข้อนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อมือ
– มีลักษณะบวม แดง และรู้สึกร้อนบริเวณข้อต่อที่อักเสบ


– ในคนไข้บางรายที่มีอาการเรื้อรัง อาจมีการก่อตัวของก้อนโทฟัส (Tophus) หรือก้อนใต้ผิวหนังที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายข้อต่อและเส้นเอ็นได้
– เกิดความเสี่ยงของอาการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากก้อนโทฟัสที่แตก โดยสามารถสังเกตเห็นเป็นผงสีขาวนวลคล้ายชอล์ก
– หากมีอาการปวดเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม/ต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดนิ่วในไต และทำให้เกิดอาการไตวายได้ในอนาคต


สาเหตุของโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งสาเหตุของกรดยูริกในเลือดสูงอาจเกิดจาก
– การสร้างกรดยูริกมากเกินไป เช่น เป็นจากพันธุกรรม , โรคอ้วน , โรคไตบางชนิด
– ไตขับกรดยูริกออกได้น้อยลง
– การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด อาหารทะเล กะปิ ปลาซาร์ดีน หอย เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน หน่อไม้ เห็ด ยอดผักอ่อน พืชตระกูลแตงทุกชนิด ซึ่งสารพิวรีนที่มีอยู่ในกลุ่มอาหารข้างต้น เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการเผาผลาญเป็นกรดยูริก

หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดกรดยูริกปริมาณมากคั่งในข้อต่อ เป็นสาเหตุของโรคเก๊าท์ในเวลาต่อมา
– การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแอสไพริน
– อาการเจ็บป่วยที่มีการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้นผิดปกติ เช่น มะเร็งเม็ดเลือด โรคสะเก็ดเงิน


การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเก๊าท์ได้จาก:
• การตรวจระดับกรดยูริกในเลือด
• การตรวจของเหลวในข้อต่อ เพื่อหาผลึกกรดยูริก
• การตรวจเอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวนด์ข้อต่อ เพื่อประเมินการสึกกร่อนของข้อจากโรคเก๊าท์


แนวทางการรักษาประกอบด้วย
• พักการใช้งานข้อ ควรยกข้อสูงเพื่อไม่ให้เกิดอาการบวม ประคบเย็นบรรเทาอาการปวด
• ทานยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs, โคลชิซีน (Colchicine)
• ทานยาควบคุมระดับกรดยูริก เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol), เฟบูโซสเตท (Febuxostat) ในการทานยาควบคุมระดับกรดยูริกนี้จะเริ่มยาหลังจากผ่าน

 

พ้นระยะข้ออักเสบเฉียบพลันไปแล้ว
• ในกรณีของคนไข้บางราย อาจใช้ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต อาทิ เช่น
ซัลฟินไพราโซน ( Sulfinpyrazone), โปรเบ็นนีซิด ( Probenecid )
• การปรับพฤติกรรมในการบริโภคเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การงดทานอาหารที่มี สารพิวรีนสูง
• รักษาโรคร่วม และตรวจประเมินอย่างต่อเนื่อง
• ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยไตในการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
อาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
• ผลไม้ ผัก และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
• โปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง
• ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
การดูแลโรคเก๊าท์ต้องอาศัยการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดและตรวจติดตามอาการเพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในระยะยาว โรคเก๊าท์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องอาศัยการเอาใจใส่ต่อการรักษาของผู้ป่วยเอง การดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค การใช้ชีวิตประจำวัน และหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสหายขาดจะเร็วขึ้น ยิ่งปล่อยนาน ยิ่งยากต่อการรักษา

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Related posts