สระบุรี – “ผู้ว่าฯบัญชา”ร่วมแถลงข่าวในงาน ESG Symposium 2024(มีคลิป)
วันที่ 20 กันยายน 2567 ณ Hall 3-4 ชั้น 10 อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ กรุงเทพมหานครฯ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมแถลงข่าวในงาน ESG Symposium 2024 พร้อมด้วยนางจิตตินันท์ เชาวรินทร์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรีและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสระบุรี นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย คณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายวีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์จำกัด (มหาชน) นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ดร.ภานุวัฒน์ คำใสย เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีและโฆษกสระบุรีแซนด์บ็อกเข้าร่วมแถลงข่าว
ทุกภาคส่วนผนึกกำลัง รายงานผล 1 ปีคืบหน้า ESG Symposium เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปรับตัวกู้วิกฤตโลกเดือด เพิ่มโอกาส SMEs ครบ 1 ปีทุกภาคส่วน รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม รวมพลัง “ร่วม-เร่ง-เปลี่ยน ไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” เกิดความคืบหน้าชัด ทุกฝ่ายขานรับ ปรับวิธีคิด “ทำงานแบบบูรณาการ” ยึดเป้าหมายเดียวกัน สื่อสารตรงไปตรงมา และลุยหน้างานจริง ช่วยปลดล็อค เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยให้เกิดขึ้นจริง ส่งเสริมการก่อสร้างสีเขียวด้วยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เอกชนจับมือจัดการแพคเกจจิ้งใช้แล้วผ่านโครงการรีไซเคิลแบบ Closed-Loop สนับสนุน SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ Go Together ปีนี้ทุกภาคส่วนกว่า 3,500 คนรวมพลัง เร่งเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อเนื่องใน ESG Symposium 2024
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “การเปลี่ยนจังหวัดสระบุรี เมืองอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เป็นเรื่องท้าทายมาก แต่เราก็ทำได้ ด้วยโมเดล PPP หรือ Public-Private Partnership ที่ทุกภาคส่วนเห็นเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เห็นชัดจากการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จัดการวัสดุเหลือใช้ทั่วทั้งจังหวัด อาทิ โครงการธนาคารขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนชุมชนคัดแยกขยะครัวเรือนตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันดำเนินการครบทั้ง 108 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดเป็นกองทุนธนาคารขยะ 123 กองทุน ขณะเดียวกันช่วยลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 3,495 ตัน CO2 เทียบเท่า สร้างรายได้ให้ชุมชนเกือบ 1 ล้านบาท ขณะที่การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ปลดล็อคด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นตัวกลางเชื่อมให้ภาคอุตสาหกรรมมารับซื้อ สร้างความมั่นใจในด้านรายได้ให้เกษตรกร ปัจจุบันปลูกแล้วกว่า 100 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คาดว่าสามารถแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้ 2,100 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อปี และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2,500 ตัน CO2 เทียบเท่า”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ที่ร่วมกันทำภารกิจที่ท้าทายของประเทศตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเริ่มต้นจากการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ในงาน ESG Symposium 2023 ออกมาเป็นข้อเสนอ 4 แนวทางในการกู้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ส่งเสริมเกษตรกรมีอาชีพ-รายได้เพิ่มด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย และลดคาร์บอน ผลักดันการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการขยายผล “ตาลเดี่ยวโมเดล” รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน เสริมแกร่งเครือข่ายป่าชุมชน 38 แห่ง แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ติดตั้ง Solar Carport ที่ศูนย์ราชการ จ.สระบุรี
ซึ่งจะขยายผลสู่หน่วยงานอื่นต่อไป ส่งเสริมความรู้ SMEs เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ Go Together โดยรุ่นแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จากทั้งหมด 20 รุ่นทั่วประเทศ ตามแผนปี 2567-2568 ตั้งเป้าส่งต่อความรู้สู้โลกเดือดให้ SMEs 1,200 คน ขณะที่โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก ซึ่งเป็นการจับมือระหว่างโฮมโปรและเอสซีจี เป็นตัวอย่างการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามารีไซเคิลแบบ Closed-Loop สำหรับบางโครงการแม้ยังมีข้อติดขัด แต่ก็มุ่งมั่นเดินหน้าต่อ ร่วมกันปลดล็อคให้การทำงานติดสปีดเร็วขึ้น อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) รองรับการเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือการสนับสนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน (Green Finance) ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ความคืบหน้าข้างต้นเกิดขึ้นได้จากการปรับวิธีคิด เน้นทำงานแบบบูรณาการ (Open Collaboration) มี 3 หัวใจหลัก 1) เป้าหมายร่วมกัน (Same Goal) คือเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำตาม NDC Roadmap (แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ) 2) แบ่งปันสื่อสาร (Open Communication) พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พบระหว่างการทำงาน 3) ลงหน้างานจริง (Hands-on) ให้เข้าใจสถานการณ์ ข้อจำกัด และความต้องการของอีกฝ่าย แล้วนำมาปรับวิธีทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายร่วมกันได้ดีที่สุด ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น หลังจากนี้ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนทุกโครงการ เพื่อให้สังคมคาร์บอนต่ำเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย”
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า “ฐานกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศกว่าร้อยละ 80 อยู่ที่สระบุรี ที่นี่จึงเป็นเสมือนบ้านของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เราจึงอยากพัฒนาบ้านของเราให้ดีขึ้น โดยร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งเปลี่ยนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เริ่มจากพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค : Hydraulic Cement) ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และสนับสนุนให้ใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,169,673 ตัน CO2 (ข้อมูลสะสม มกราคม 2565 ถึงมีนาคม 2567) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามเป้าหมายของ จ.สระบุรี โดยไทยตั้งเป้าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะไม่มีปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ภายในปี 2568 อีกทั้งมีแผนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำประเภทใหม่ ๆ ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น สำหรับแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งมีความชำนาญและเครื่องมือในการจัดทำแผน Energy Transition ของสหรัฐอเมริกา โดยร่วมกันประเมินเส้นฐาน (Baseline) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และกำหนด Energy Roadmap ของ จ.สระบุรี รวมถึงประเมินแนวทางการใช้พื้นที่ของจังหวัดฯ ทำเป็น Solar PV พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน นอกจากนั้นควรเร่งพัฒนา Green Infrastructure รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศ โดยศึกษากระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของจีน ที่มีการแบ่งลำดับขั้นตามความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงตัวอย่างของไต้หวันที่มีโครงสร้างไฟฟ้าแบบการประมูลรายวัน ปัจจุบันเรามีความร่วมมือกับทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนา Grid Modernization ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์”
นายวีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โฮมโปรในฐานะผู้นำเรื่องบ้าน เล็งเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนสินค้าในบ้าน แต่ไม่รู้วิธีจัดการสินค้าใช้แล้วที่ถูกต้อง จึงริเริ่มโครงการ Closed-Loop Circular Products ซึ่งเป็นการนำสินค้าที่ใช้งานแล้วจากลูกค้าโฮมโปร มาจัดการอย่างถูกวิธี โดยคัดแยกชิ้นส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ และได้ความร่วมมือจากพันธมิตรหัวใจสีเขียวอย่างเอสซีจี ที่มีเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเหมือนกัน ช่วยพัฒนาสูตรพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่เรียกว่า Green Polymer เพื่อนำกลับมาผลิตอีกครั้งเป็นสินค้ารักษ์โลกให้กับลูกค้าโฮมโปร ปัจจุบันโฮมโปรมี Circular Products ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น พัดลม ไปจนถึงกระเบื้อง กล่องอเนกประสงค์ ถุงช้อปปิ้ง และอื่น ๆ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิด Circular Products ด้วยระบบ Closed-Loop ถือเป็นภารกิจที่ตอบเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ของโฮมโปรได้อย่างเป็นรูปธรรม”
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า “ความท้าทายของผู้ประกอบการรายย่อยไทยต่อจากนี้คือ การปรับธุรกิจให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกิดจากประเด็นความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อาทิ Thailand Taxonomy มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงทางการค้า ธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อน จะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวและพาธุรกิจอยู่รอดได้เร็ว ดังนั้นสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจึงสนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงความรู้ มาตรฐานใหม่ ๆ เทคโนโลยีกระบวนการผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แหล่งเงินทุนสีเขียวทั้งในและนอกประเทศสำหรับใช้ในการปรับธุรกิจ เน้นสร้างกลไกเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพิ่มโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ทั้งการเงิน ส่งเสริมความรู้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นยังต้องขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วย SMEs ให้ร่วมยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนด้วย”
***********
กฤษฎา สมมาตร
รายงาน