สงขลา-อบต.ท่าข้ามรับการประเมินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 2

สงขลา-อบต.ท่าข้ามรับการประเมินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 2

 

วันนี้ 13 กันยายน 2567 องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้การต้อนรับคณะกรรมการเยี่ยมเยียนพิจารณาให้คะแนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินงานทรัพยากรท้องถิ่น นำโดยนายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการ เพื่อขอรับพระราชทานเกียรติบัตรงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 2 โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม โดยมีนายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหาดใหญ่ นายสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้าม และคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงาน อบต.ท่าข้าม ประชาชนชาวท่าข้าม ร่วมต้อนรับ

 
นายสินธพ อินทรัตน์ นายก อบต.ท่าข้าม กล่าวว่า อบต.ท่าข้ามได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2557 และได้รับป้ายพระราชทานงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ซึ่งทาง อบต.ท่าข้ามได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 โดยงานที่เป็นตัวชี้วัดการประเมินในขั้นที่ 1 คือ ด้านพืชศึกษา ได้ศึกษาต้นกะพ้อ ด้านสัตว์ศึกษา ได้ศึกษา ผึ้งยวน ด้วยชีวภาพศึกษา ได้ศึกษาเห็ดแครง และด้านภูมิปัญญาศึกษา ได้ศึกษา ซั้งเก็บน้ำ (ฝายภูมิปัญญา)

 

 
“ต่อมาทาง อบต.ท่าข้ามได้ทำการศึกษาเพิ่มเพื่อเตรียมรับการประเมินเกียรติบัตรงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นขั้นที่ 2 ดังนี้ ด้านพืชศึกษา ได้ศึกษาข้าวเหนียวดำ ด้านสัตว์ศึกษา ได้ศึกษา ไก่บ้าน ด้วยชีวภาพศึกษา ได้ศึกษาเห็ดขอนขาว และด้านภูมิปัญญาศึกษา ได้ศึกษา โนราท่าข้าม โดยเพิ่มเติมงานวิจัยอีก 2 งานคือ งานวิจัยสารสกัดจากเห็ดแครง และงานวิจัยเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับโนราท่าข้าม”

 
นายสินธพ กล่าวอีกว่า ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของ อบต.ท่าข้าม และทีมงาน ในการทำงานสนองพระราชดำริตามโครงการดังกล่าว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะส่งผลให้ อบต.ท่าข้ามสามารถผ่านการประเมินเกียรติบัตรงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นขั้นที่ 2 นี้ได้
สำหรับการจัดการงานวันนี้มีการจัดนิทรรศการผลงาน ที่ทาง อบต.ท่าข้ามได้ศึกษาวิจัย อาทิ เห็ดแครง ซึ่งต่อยอดเป็นขนม น้ำพริก และเครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวดำ ผลิตภัณฑ์จากไก่บ้าน การแสดงโนราท่าข้าม และนิทรรศการจากโรงเรียนในสังกัด อบต.ท่าข้าม

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

Related posts