นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจติดตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC

นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจติดตามการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC

 

วันที่ 23 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมติดตามพื้นที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการชลบุรี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า โครงการ EEC เป็น megaproject ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ยอมรับว่ามีความล่าช้าบ้าง จะต้องลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยง 3 สนามบิน ซึ่งโครงการนี้ควรเร่งสร้างตั้งแต่ปี 2564 แต่ติดปัญหาโควิด ทำให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ และพฤติกรรมหลังโควิดผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้กระทบต่อตัวเลขวงเงินที่มีการทำสัญญาไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองให้เกิดความชอบธรรม

พร้อมกันนี้นายกฯ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ระยะเวลา ของสัญญาที่ต่อรองไว้ดำเนินการพูดคุยให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีได้หรือไม่ และกำชับขออย่าให้ปัญหาลุกลาม เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแล้วรถไฟยังไม่มาก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่าหลายๆ ฝ่ายจะมีการพูดคุยกันได้ดี

 

ทางด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะงานด้านระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญๆ เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ก่อสร้างแล้ว 26.42% ระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ก่อสร้างแล้ว 48.41% งานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างแล้ว 98.44% เป็นต้น ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่ร่วมทุนกับภาคเอกชนขณะนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2567 เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญๆ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572 ซึ่งประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคมจะมีข่าวดี

 

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องของ 3 สนามบิน ขอให้มาพูดคุยและทำให้ทุกๆ โครงการเดินหน้าได้ ยืนยันว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็น megaproject ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเมื่อวานนี้ตนเองได้ลงพื้นที่ไปพัทยาและได้ดูเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเรี่องการจัดมหกรรมคอนเสิร์ตต่างๆ รวมถึงเรื่องของเฟสติวัลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 บอร์ด ถ้าเกิดไม่มีสนามบินก็จะทำให้ลำบากมากขึ้น ส่วนบ่ายวันนี้ จะลงพื้นที่ติดตามเรื่องของไซต์งานต่างๆ ทั้งเรื่อง Formula One ซึ่งถือว่าเป็นเมกกะโปรเจ็คระดับโลก เพราะจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 100,000 คน เพราะฉะนั้นหากประเทศไทยมี Infrastructure มารองรับส่วนนี้ได้ จะทำให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยว และจะส่งผลต่อการต่อยอดให้กับเศรษฐกิจที่จะพัฒนา เนื่องจากมีหลายมิติ ไม่ได้มีเพียงมิติขนส่งคน หรือขนสินค้า แต่มีความต่อเนื่องอีกมาก

 

“สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ EEC ขณะนี้มีภาคเอกชนได้เข้ามาหารือกับ EEC และสนใจใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่อยู่กว่า 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม BCG โดย EEC ได้ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนจริงให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567 – 2571”

 

Related posts