“เพื่อนชุมชน” ลุยต่อ พัฒนา ยกระดับ วิสาหกิจชุมชนจังหวัดระยอง ด้วยโครงการ สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 9

“เพื่อนชุมชน” ลุยต่อ พัฒนา ยกระดับ วิสาหกิจชุมชนจังหวัดระยอง ด้วยโครงการ สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 9

 

 

นายทศพร บุณยพิพัฒน์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า วันที่ 19 มิถุนายน 2567 – สมาคมเพื่อนชุมชน ขยายกลุ่มการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง จับมือภาคีเครือข่าย อาทิ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทสมาชิกสมาคมเพื่อนชุมชน หนุนวิสาหกิจชุมชน (วสช.) จังหวัดระยอง เข้าร่วม “โครงการสมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 9” ประจำปี 2567 โดยร่วมกันเป็นพี่เลี้ยง ถ่ายทอดองค์ความรู้ แบ่งปันความคิดสร้างสรร นำนวัตกรรมเข้ามายกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุน ตลอดจนพร้อมขยายและเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดได้อย่างยั่งยืน

 

สำหรับพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) และพิธีส่งมอบโครงการสมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดลรุ่นที่ 9 เป็นการพัฒนา ยกระดับศักยภาพ วสช. ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดระยอง ที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2559-2566 มีผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนา วสช. ไปแล้วทั้งหมด 8 รุ่น รวม 64 กลุ่ม สร้างรายได้สะสมกว่า 96 ล้านบาท โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานและพยานในพิธีฯ ณ ห้องประชุมสร้อยทอง โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง

 

โดยปีนี้ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมจำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. วิสาหกิจชุมชนแปรรูปโกโก้ ชุมชนเกาะกก พื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด 2. วิสาหกิจชุมชนมุมดินฟาร์มเกษตร พื้นที่เทศบาลเมืองบ้านฉาง 3. วิสาหกิจชุมชนชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลเนินพระ พื้นที่เทศบาลตำบลเนินพระ 4. วิสาหกิจชุมชนสวนป้านุลุงไก่เกษตรอินทรีย์ พื้นที่เทศบาลตำบลสำนักท้อน 5. วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสานฐานเรียนรู้สวนคุณย่า พื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด 6. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนิลระกา พื้นที่เทศบาลตำบลบ้านแลง 7. วิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมศูนย์การเรียนรู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลชุมชนวัดพลา พื้นที่เทศบาลตำบลพลา 8. วิสาหกิจชุมชนศูนย์อนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่นระยองและเครือข่ายกลุ่มทอผ้าพื้นถิ่น พื้นที่เทศบาลตำบลเพและเทศบาลตำบลเขาน้อย อำเภอเขาชะเมาพัฒนา ได้ต่อยอดองค์ความรู้ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม โดยผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

โครงการ “สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาสู่รุ่นที่ 9 สะท้อนความสำเร็จของพลังความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ขับเคลื่อนผ่านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพิ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจแบบ BCG โมเดล ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สมกับคำกล่าวที่ว่า “สมาคมเพื่อนชุมชน บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน”

Related posts