เชียงใหม่-เปิดกิจกรรมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2567
วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยนายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประธานศูนย์เครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน เจ้าภาพการจัดงาน การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ระดับชาติ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมีนายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม นางปริศนา วรรณารักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยคุณชลฤทัย ทวีแสง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานจาก สพฐ. และ สสวท.คณะกรรมการผู้ตัดสิน คณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักเรียน และผู้มีเกียรติ ร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมดารารัศมี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายและจุดเน้นสำคัญ ให้สถานศึกษามุ่งให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้สนองนโยบาย โดยการส่งเสริมการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากจุดมุ่งหมายระหว่างการเรียนที่ต้องการให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการศึกษาค้นคว้า โดยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งให้มีการจัดเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กไทยได้แสดงออกและหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ เพราะในชีวิตประจำวันของนักเรียนและของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา วิวัฒนาการทางด้านความรู้ ทำให้มี การเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของชีวิต
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหล่อหลอมให้คนในสังคม รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สร้างคนให้มีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในแนวทางของเหตุและผล ตามหลักตรรกะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองในสังคมยุคปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต
นางปริศนา วรรณารักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ที่เยาวชนในเขตพื้นที่ และของชาติจะได้รับ จากการจัดกิจกรรมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีและเป็นอีกหนึ่งเวที ที่เยาวชนเหล่านี้จะได้แสดงออกและจะได้รับประสบการณ์ ในการแข่งขันประลองไหวพริบและปัญญาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของการเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ มีวิธีคิดที่มีเหตุผล เพื่อนำไปใช้และต่อยอดพัฒนาชาติไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่จึงได้อำนวยความสะดวก และสนับสนุน การดำเนินการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ อย่างเต็มความสามารถ
นายสำเร็จ ไกรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประธานศูนย์เครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ฟิสิกส์สัประยุทธ์ (Young Physicists’ Tournament) เป็นการแข่งขันทางวิชาการ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงการทดลองที่ทำให้เกิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการอภิปรายในทางวิทยาศาสตร์ขึ้นในระหว่างการประลองแข่งขัน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีกำหนดการแข่งขันระหว่างวันที่ 1 – 3 มิถุนายน 2567 ณ สนามแข่งขันภายในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยมีคณะครูและนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 230 คน คณะกรรมการตัดสินซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้แทนครูฟิสิกส์ จากโรงเรียนในเครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน รวมถึงมีกรรมการประจำห้องแข่งขัน คณะดำเนินงานจาก สพฐ. และ สสวท. และคณะทำงานของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 424 คน
การจัดกิจกรรมฟิสิกส์สัประยุทธ์ครั้งนี้ มีทีมแข่งขันจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 33 ทีม ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จำนวน 9 เครือข่าย เครือข่ายละ 3 ทีมโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จำนวน 3 ทีม และโรงเรียนในเครือข่ายโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ พสวท. จำนวน 3 ทีมโดยดำเนินการจัดการแข่งขันเก็บคะแนน จำนวน 3 รอบ และคัดเลือกทีมเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจำนวน 4 ทีม เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศเข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป
พัฒนชัย/เชียงใหม่