สงขลา-ม.ทักษิณ เปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ นวัตกรรมการวิจัย คลังข้อมูลสารสนเทศของชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม
ที่ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ อาคารหอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางที่จัดตั้งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างกัน ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการผลิต ต่อยอด งานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการพัฒนานิสิต บุคลากรร่วมกัน โดยมีผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสงขลาเข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ มีนโยบายและภารกิจหลักในด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเป้าหมายของการเปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Center For Southeast Asia Arts And Life ส่วนหนึ่งคือจะกลายเป็นพื้นที่กลาง เป็นศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา และก่อให้เกิดความร่วมมือของสถาบันทางการศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันยังได้เชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งกับชุมชนท้องถิ่นผ่านการจัดโครงการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และกิจกรรมของชุมชน มุ่งมั่นส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปะ วัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันทางสังคม
ความซาบซึ้งต่อมรดกทางวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีทางศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูล สื่อและทรัพยากรดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สนใจได้ข้อมูลที่เจาะลึกเข้าไปใน ประเพณีทางศิลปะของภูมิภาคและทำความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับความสำคัญทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการผลิต ต่อยอดงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการพัฒนานิสิต บุคลากรร่วมกันอีกทั้งเป็นการตอบสนอง นโยบายและภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉีองใต้และเป็นศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษาและความร่วมมือของ สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรม หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการอนุมัติจัดตั้งตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 โดยมีหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ได้แก่ งานวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายหน่วยงานภายนอกร่วมดำเนินการ ได้แก่ สมาคมศิลปินนานาชาติภาคใต้ กลุ่มร่องลายไทย สถานกงสุลสาธารณรัฐอินโดนีเชียประจำจังหวัดสงขลา และสถานกงสุลใหญ่มาเลเชียประจำประเทศไทย ณ จังหวัดสงขลา
ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานภายในและภายนอกได้ รับทราบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ ในอนาคตจึงกำหนดกิจกรรมการเปิดตัวศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาคารหอเปรมคนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ การแสดงผลงานจากโครงการวิจัย รวมถึงกิจกรรมการ workshop ด้านทัศนศิลป์โดยศิลปินนานาชาติจากหลากหลายประเทศทั่วโลก สำหรับการแสดงพิธีเปิด “Southeast Asian Arts and Life” ประกอบด้วย การแสดงวงดนตรีไทยปี่พาทย์ โดย สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย การแสดงวงดนตรีรองเง็ง โดย สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย การแสดงดนตรีร่วมสมัย โดย สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากลและสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย การแสดงโนรา โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา ประจำปี 2564
สำหรับกิจกรรม Workshop ด้านทัศนศิลป์ ในวันนี้ได้รับเกียรติจากสมาคมศิลปินนานาชาติภาดใต้ จาก 21 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเชีย พิลิปปินส์ จีน เกาหลีไต้ ญี่ปุ่น มองโกเลีย บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย อียิปต์ ออสเตรีย มาเซโดเนีย อังกฤษ ฝรั่งเคส สเปน อเมริกา และ ไทย มาร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ทางด้านทัศนศิลป์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมระหว่างกัน เพื่อให้สามารถต่อยอดผลงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้ได้จัดให้มีการแสดงผลงาน โดย กลุ่มวิจัยโนรา (คณะศิลปกรรมศาสตร์) กลุ่มวิจัยกริช (สถาบันทักษิณคดีศึกษาและคณะศิลปกรรมศาสตร์) และงานวิจัยดินเผา (อาจารย์ ดร.วิเชษฐ์ จันทร์คงหอมและผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร คณะศิลปกรรมศาสตร์) ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชื่นชมผลงานของเหล่าศิลปินได้ที่ หอเปรมดนตรี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา