ปทุมธานีนายกเทศมนตรีนครรังสิตแจงหลังสมาชิกสภาทน.รังสิตรวนตีตกงบประมาณในการพัฒนา

ปทุมธานีนายกเทศมนตรีนครรังสิตแจงหลังสมาชิกสภาทน.รังสิตรวนตีตกงบประมาณในการพัฒนา

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธุปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ได้ชี้แจงกรณีหลายโครงการไม่ผ่านสภาเทศบาลนครรังสิต โดยโพสผ่านเฟสบุ๊กว่า เรียน พ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวนครรังสิตทุกท่าน นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกท่านให้เข้ามาทำงานพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งก็ได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างเต็มที่ ในการบริหารงานเทศบาลนครรังสิต เพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวเทศบาลนครรังสิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามแนวนโยบาย “เปลี่ยนแปลงนครรังสิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า”
โดยได้ยึดหลักการหนึ่งเป็นแนวทางในการบริหารเทศบาลนครรังสิต เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย คือการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย สลายความขัดแย้ง โดยยึดหลักเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จนกระทั่ง เมื่อมีการประชุมสภาเทศบาลนครรังสิต เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอญัตติโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน แต่ถูกท่านสมาชิกสภาเทศบาลพิจารณาไม่อนุมัติโครงการต่างๆ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ (จากศาลเจ้าคลองหนึ่งถึงคลองสว่าน) งบประมาณโครงการ 15,000,000 บาท 2.โครงการปรับปรุงฝาบ่อพักเหล็กหล่อภายในเขตเทศบาลนครรังสิต งบประมาณโครงการ 30,000,000 บาท 3.โครงการปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างทางสาธารณะภายในเขตเทศบาลนครรังสิต งบประมาณโครงการ 60,000,000 บาท 4.โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะงานภูมิทัศน์ซอยรังสิต – นครนายก30 งบประมาณโครงการ 25,000,000 บาท 5.โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถ พร้อมอุปกรณ์ครบชุด งบประมาณโครงการ 10,000,000 บาท และ 6.โครงการจอแสดงผล LED งบประมาณโครงการ 3,000,000 บาท


จากการประชุมสภาเทศบาลในวันดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ท่านสมาชิกสภาเทศบาลบางท่านมีการลงมติไม่อนุมัติในทันที โดยไม่ได้มีเปิดให้มีการอภิปรายในโครงการ หรือสอบถามถึงความเหมาะสมของโครงการแต่อย่างใด เพียงแต่ให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสม (ประกอบกับมีข่าวว่าจะไม่ยกมือให้โครงการต่างๆผ่าน ตั้งแต่ก่อนการประชุมสภาเทศบาลแล้ว) ซึ่งการกระทำดังกล่าว ของท่านสมาชิกสภาเทศบาลที่ไม่เห็นด้วย ย่อมส่งผลกระทบต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวนครรังสิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโครงการต่างๆ เป็นโครงการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับการใส่ใจดูแลอยู่แล้ว
อย่างเช่นโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนบ่อย มีความตั้งใจในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีทัศนียภาพที่งดงาม เป็นพื้นที่สีเขียว และโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะซอยรังสิต – นครนายก30 มีความตั้งใจพัฒนาเป็นสวนสาธารณะเพื่อชุมชน ต่อยอดโครงการศูนย์การแพทย์นครรังสิตที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ตลอดจนโครงการปรับปรุงจอLED ที่ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเขตพื้นที่เทศบาลนครรังสิต


โครงการปรับปรุงฝาบ่อพักเหล็กหล่อ โดยเป็นโครงการที่จะสร้างความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวนครรังสิตเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดเรื่องร้องเรียนเป็นอย่างมาก จากปัญหาฝาท่อชำรุด โดยราคาต่อหนึ่งฝา จะต้องมีการคำนวณในส่วนของงานรื้อฝาบ่อเดิม ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีต ประกอบกับการเสริมขอบบ่อโดยใช้เหล็กเสริมพร้อมเทคอนกรีต และนำฝาบ่อเหล็กที่มีความคงทนถาวรมาติดตั้ง โดยในการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆมีการดำเนินการตามระเบียบของกรมบัญชีกลางกำหนด โดยค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งบ่อพัก (โดยประมาณ) จะประกอบด้วย ค่าฝาบ่อพักน้ำแบบเหล็กหล่อ ราคา 20,550 บาท , ค่างานโครงสร้าง เครื่องจักร ราคา 16,000 บาท , ค่าภาษี ค่าดำเนินการ ราคา 13,450 บาท เมื่อคิดราคารวมแล้วเป็นประมาณ 50,000 บาท (โดยประมาณ) โดยราคาดังกล่าวเป็นการคิดตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่ทีมผู้บริหารชุดนี้จะเข้ามาบริหารงานเทศบาลนครรังสิต ก็ได้มีการอนุมัติจ้างเหมาซ่อมแซมฝาบ่อพัก เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ราคาฝาบ่อละ 44,390 บาท และสภาเทศบาลนครรังสิตก็ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมสภาเทศบาลหลายครั้งด้วยกัน แต่กลับกัน ในการประชุมสภาเทศบาลนครรังสิต เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่านสมาชิกสภาเทศบาลบางท่านกลับมีมติไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสม ทั้งๆที่ราคาก็ไม่แตกต่างจากปี 2562 มากนัก ถ้าคิดเฉพาะตัวฝาบ่อ ผู้บริหารชุดนี้เสนอราคาถูกกว่าด้วยซ้ำ


ฝาบ่อพักในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต มีทั้งหมดประมาณ 11,802 บ่อ (รวมทุกขนาด) ซึ่งเป็นฝาเหล็กหล่อ จำนวน 4,298 บ่อ ซึ่งก็ยังเหลือฝาท่อที่ยังต้องปรับปรุงอีกจำนวน 4,504 บ่อ ซึ่งถือว่ามากอยู่พอสมควร และมันมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวนครรังสิต
โครงการปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างทางสาธารณะ เกิดขึ้นจากปัญหาข้อร้องเรียนไฟส่องสว่างชำรุด โดยปัจจุบันโคมไฟถนนในเขตพื้นที่เทศบาลนครรังสิต มีจำนวนประมาณ 4,000 ดวง มีการใช้โคมแบบกิ่งยาวใช้คู่กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดLED ซึ่งปัจจุบันมีอายุการใช้งานนาน สภาพชำรุดทรุดโทรม สายไฟเก่า ขาดเป็นช่วงๆ ทำเกิดเกิดปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการสัญจรไปมา
โดยโครงการที่นำเสนอต่อสภาเทศบาลนครรังสิต เป็นโครงการในการเปลี่ยนโคมไฟถนนแบบดวงโคม LED ซึ่งมีประสิทธิภาพในการประหยัดไฟ เพิ่มความส่องสว่าง มีความคงทนถาวร โดยตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการแล้ว เช่น บริเวณหน้าหมู่บ้านสีวลี , ซอยรังสิต – ปทุมธานี 8 และซอยรังสิต – ปทุมธานี 10 (บริเวณท้ายบึงใหญ่)
จะเห็นได้ว่าโครงการที่ทางเทศบาลนครรังสิตดำเนินการเป็นโครงการต้นแบบ เกิดประโยชน์ สร้างความเปลี่ยนแปลง ถึงความสว่างที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับนโยบายสำคัญที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้ให้ความสำคัญ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ จากการประชุมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยหากโครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากสภาเทศบาลนครรังสิต จะสามารถเปลี่ยนโคมไฟได้ประมาณ 2,000 โคม นับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของโคมไฟทั้งพื้นที่เทศบาลนครรังสิต เป็นการยกระดับความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน


และโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถ โดยที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดเรื่องร้องเรียนเป็นอย่างมากเรื่องหนึ่ง คือกล้องวงจรปิดมีสภาพเสื่อมโทรมตามการใช้งาน ทำให้เกิดปัญหาภาพเสียหาย และภาพไม่คมชัด ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการขอตรวจสอบกล้องวงจรปิดเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมในพื้นที่ จะเกิดปัญหาไม่สามารถขอใช้ภาพได้ เนื่องจากภาพมีความไม่คมชัด และเสียหายเป็นจำนวนมาก
ซึ่งในส่วนของกล้องวงจรปิดที่ใช้งานไม่ได้ ทางเทศบาลจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ ประกอบกับเสริมด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดถึงความปลอดภัย สอดคล้องกับการพัฒนาให้นครรังสิตไปสู่เมืองอัจฉริยะ
โดยในส่วนประเด็นของการขออนุมัติจ่ายเงินสะสม ได้มีการเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชน โดยคำนึงถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พุทธศักราช 2566 โดยระเบียบปัจจุบัน ประกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ข้อ97 “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจใช้จ่ายเงินสะสมได้ โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไขใน (1) ให้กระทำได้เฉพาะภารกิจซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง” ซึ่งตามระเบียบการตั้งงบประมาณโครงการปรับปรุงฝาบ่อพัก และโครงการปรับปรุงโคมไฟสาธารณะ ตั้งอยู่ใน “หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง” ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบ โดยคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงการดำเนินงานของสภาเทศบาลนครรังสิต ซึ่งมีท่านสมาชิกสภาเทศบาลบางท่าน ที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขอให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชนชาวเทศบาลนครรังสิตว่า จะตั้งใจปฎิบัติหน้าที่ และจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะนำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน กลับมาสู่พี่น้องประชาชนให้จงได้ เพราะการบริหารงาน คือยึดเอาประโยชน์ของประเทศชาติ ของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง และจะขอทำงานเพื่อประชาชนต่อไปเพื่อ “เปลี่ยนแปลงนครรังสิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า”

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

Related posts