‘ดีอี’ โชว์ปฏิบัติการ Cyber Guardian ผนึก ‘ตำรวจไซเบอร์’ จับมิจฉาชีพออนไลน์อีกล็อต ‘ทลายเครือข่ายพนันออนไลน์-แก๊งหลอกส่งสินค้าไม่ตรงปก’ โชว์อายัดบัญชีแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน ดึงเงินคืนผู้เสียหายได้ 9.6 แสน
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ดีอี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผบช.สอท. เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกรณีแก๊งคอลเซนเตอร์และการพนันออนไลน์ ผลักดันการทำงานของศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุด One Stop Service แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ได้ร่วมกันปฏิบัติการ Cyber Guardian เป็นการบุกตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 4 กรณี
1. กรณีจับกุมแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน อายัดเงินได้ทัน 9.6 แสนบาทคืนให้กับผู้เสียหาย จากกรณีคนร้ายได้โทรศัพท์มาหลอกลวงผู้เสียหายโดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางที่จะมาประสานการรับเงินบําเหน็จบํานาญจากรัฐบาลเดือนละ 2 ครั้ง โดยคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์ แล้วมีการให้ทําตามขั้นตอนที่คนร้ายบอก ปรากฏว่าโทรศัพท์เครื่องค้างไม่สามารถปิดเครื่องหรือทําอะไรได้ ผู้เสียหายจึงรีบเดินทางไปที่ธนาคารและพบว่าเงินในบัญชีธนาคาร 2 บัญชีถูกโอนไปยังบัญชีคนร้าย 5 ครั้ง
2. กรณีจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ Slotkub พบเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาท จำนวน 3 เว็บไซต์ ได้แก่ slotkub789.com, slotkub88.com และ like365.com ซึ่งเครือข่ายดังกล่าว มีสมาชิกผู้เล่นรวมกันกว่า 100,000 คน มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาทต่อปี จากการสืบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ทั้ง 3 เว็บไซต์ดังกล่าวนั้นเป็นเครือข่ายเดียวกัน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมจำนวน 10 ราย โดยมีทั้งเจ้าของเว็บไซต์ โปรแกรมเมอร์ เจ้าหน้าที่ดูแลการเงิน และบัญชีม้า นอกจากนี้ยังได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลและเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 6 จุดในเช้ามืดของวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจับกุมผู้กระทําความผิดที่เกี่ยวข้อง สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 4 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องได้หลายรายการ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
3. กรณีบุกค้นโกดังใหญ่ย่านบางบอน ขยายผลจากกรณีจับตัวการส่งพัสดุ หลอกเก็บเงินปลายทางโดยไม่ได้มีการสั่งซื้อ และส่งสินค้าที่ไม่ตรงปกเพื่อหลอกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งตำรวจไซเบอร์ได้เร่งกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิด โดยสืบเนื่องจาก ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ได้รับร้องเรียนจากการประชาชนเป็นจำนวนมาก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนและนำกำลังเข้าจับกุมนายอนุศาสน์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ซึ่งได้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 4 บัญชีในการขายสินค้า มีการส่งพัสดุในรอบ 1 เดือน ประมาณ 8,000 ชิ้น และมีพัสดุตีกลับประมาณ 47 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมียอดระงับการเก็บเงินปลายทางกว่า 8 แสนบาท จึงได้นำตัวพร้อมของกลางส่งดำเนินคดี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้นำกำลังพร้อมหมายค้นศาลแขวงบางบอน เข้าตรวจค้นโกดังสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ในซอย เอกชัย 109 แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พบนางสาวกัญญารัตน์ อายุ 24 ปี ชาว จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ดูแล โดยพบของกลางสินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่ไม่มีมาตรฐานกว่า 30 รายการ รวมทั้งสิ้นกว่า 4 พันชิ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม ครีมทาผิว และสินค้าอื่นๆ อีกหลายรายการ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการตรวจยึดของกลางทั้งหมดส่งดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมจะทำการขยายผลเพิ่มเติมจากหลักฐานที่ได้จากปฏิบัติการดังกล่าวต่อไป
4. กรณีจับแก๊งรับจ้างตัดต่อภาพลามกอนาจารผ่านกลุ่มลับแอป VK โดยใช้ชื่อบัญชี ‘รบกวนตัดออกให้ที’ ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 1.2 แสนราย นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์ข้อความรับจ้างตัดต่อภาพผู้อื่นให้เป็นภาพโป๊เปลือย หรือรับเข้าเป็นสมัครชิกกลุ่มวีไอพีชื่อ ‘ชุมชนช่างตัดเสื้อ’ รวมทั้งเปิดให้เช่าใช้งานโปรแกรม AI สำหรับตัดต่อภาพโป๊เปลือย โดยรับชําระเงินผ่านระบบทรูมันนี่ วอลเล็ท ในรูปแบบของอั่งเปา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน สามารถนําไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาได้จํานวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการร่วมกันกระทําความผิดดังกล่าว โดยในครั้งนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ครบทั้ง 2 ราย พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการกระทําความผิด ซึ่งการตัดต่อเป็นภาพลามกและนําไปโพสต์ขายในสื่อสังคมออนไลน์เป็นการกระทําความผิดหลายข้อหา อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 (1) และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์14(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับและมาตรา 16 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 200,000 บาท
“รัฐบาลโดยกระทรวงดีอี และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มีความมุ่งมั่นที่จะกวาดล้างอาชอาญกรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ เพื่อลดความเสียหายและลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งหามาตรการใหม่ๆ เพื่อยับยั้งการทำงานของมิจฉาชีพ โดยบูรณาการการทํางานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว
/////////////////