สระบุรี – “รัฐมนตรีไชยา” รมช.เกษตรและสหกรณ์ Kick off ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย “ส.ส.อั๋น “สระบุรีเขต2 ให้การต้อนรับ(มีคลิป)

สระบุรี – “รัฐมนตรีไชยา” รมช.เกษตรและสหกรณ์ Kick off ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย “ส.ส.อั๋น “สระบุรีเขต2 ให้การต้อนรับ(มีคลิป)

วันที่ 16 ธันวาคม 2566 ที่ฟาร์มนายประพิศ หมู่ที่6 ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เปิดงาน Kick off โครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงรอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดสระบุรี พร้อมปล่อยขบวนเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติ พร้อมมอบเวชภัณฑ์ วัคซีนให้กับอาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ และมอบแร่ธาตุก้อน และเวชภัณฑ์เบื้องต้นให้แก่เกษตรกร โดยมี นายอรรถพล วงษ์ประยูร ส.ส.สระบุรีเขต2 พรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับและนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมพี่น้องเกษตรกร เข้าร่วมงาน


นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าว่าประเทศไทยมีเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ และโคนม จำนวนมาก นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างดี ในการเลี้ยงโคจะประสบปัญหาในเรื่องโรคระบาดต่าง1 อยู่บ้าง โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เป็นต้น เมื่อเกิดโรคจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากแต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อถึงมนุษย์ เนื่องจากจังหวัดสระบุรีมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคจำนวนมาก โดยเป็น โคเนื้อ 2,123 ราย 30,592 ตัว โคนม 4,157 ราย 146,197 ตัว ซึ่งเมื่อภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงสัตว์ซึ่งอยู่รวมกันอย่างแออัด หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนสัตว์ก็อาจแสดงอาการป่วยและจะทำให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว


โรคปากและเท้าเปื่อยนั้นถึงแม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตในโคที่โตเต็มวัย แต่ก็ยัง ก่อให้เกิดปัญหาด้านความสูญเสียทางเศรษฐกิจในวงกว้าง เนื่องจากผลผลิตของเกษตรกรลดลง อีกทั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสัตว์ป่วย ซึ่งหากฝูงสัตว์ไม่ได้รับวัคซีนอาจมีอัตราการป่วยได้มากกว่าร้อยละ 80 ของฝูง ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ โดยในระดับครัวเรือนทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคสูญเสียรายได้ เพราะการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตจากโคลดลง นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มรายจ่ายให้แก่เกษตรกรมากขึ้น ทั้งในส่วนการบำรุงและรักษาโคเพื่อให้มี สุขภาพที่ดีเช่นเดิม ส่วนในระดับประเทศทำให้ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังประเทศที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ถือว่าเป็นการสูญเสียการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก


ในการป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโค กระบือ แพะ แกะ นั้น ในโคนมจะต้องได้รับ การฉีดวัดจีนทุกๆ 4 เดือน ในโคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนทุกๆ เดือน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอโดยตลอด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567กรมปศุสัตว์จะดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโค กระบือ แพะแกะ รอบที่ 1 ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 และเพื่อให้การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปาก และเท้าเปื่อยในประเทศไทยเป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมสัตว์ใน พื้นที่ทั้งหมด กรมปศุสัตว์จึงได้จัดให้มีพิธีเปิดงานรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย และ การทำลายเชื้อโรค ในพื้นที่เสี่ยง รอบที่ 1ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบและตระหนักถึงการป้องกันโรคดังกล่าว

.
ทั้งนี้จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคจำนวนมาก โดยมีทั้งโคเนื้อและโคนม โดยเฉพาะอำเภอมวกเหล็ก เป็นอำเภอที่มีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และอาชีพการเลี้ยงโคนม เป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนมากดังนั้น การควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดโรคปากและเท้าเปื่อย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวในจังหวัดสระบุรี
*************
กฤษฎา สมมาตร
รายงานข่าว

Related posts