50 จังหวัด ร่วมประกวด “ปฏิบัติการเคมีย่อส่วน DOW-CST AWARD” ย้ำผลสำเร็จ “ห้องเรียนเคมีดาว” สร้างประโยชน์ทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ – 17 พฤศจิกายน 2566 – กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และพันธมิตรในโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เปิดเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เป็นปีที่ 9 ชิงแชมป์การประกวดโครงงานทดลองเคมีแบบย่อส่วน DOW-CST AWARD ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีโรงเรียนทั่วประเทศส่งเข้าประกวดถึง 132 โครงงาน จาก 50 จังหวัด สะท้อนผลสำเร็จในส่งเสริมให้คุณครูทั่วประเทศนำเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) ไปใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน ด้วยจุดเด่นของชุดการทดลองมีขนาดเล็ก ปลอดภัยสูง และราคาถูก ช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทยได้ลงมือทดลองจริง แม้ในโรงเรียนที่ห่างไกล รวมทั้งรู้จักการประยุกต์ใช้สิ่งของในท้องถิ่นมาทดลอง ช่วยสร้างความเข้าใจในเนื้อหา และสร้างทัศนคติที่ดีในการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งยังเป็นสาขาที่มีความต้องการอีกมากในประเทศไทย
Dow ได้ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ (CST) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ส่งผลงานการทดลองที่ออกแบบภายใต้หลักการของ “เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” เข้าร่วมประกวด DOW-CST AWARD ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 ในหัวข้อ Green Chemistry ซึ่งในปีนี้มียอดผู้เข้าร่วมประกวดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 132 ทีม จาก 50 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นการเน้นย้ำถึงผลสำเร็จที่มีการนำวิธีการสอนแนวใหม่ไปใช้ในห้องเรียนอย่างทั่วถึง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการทดลองวิทยาศาสตร์แม้ในจังหวัดห่างไกล
การประกวดรอบชิงชนะเลิศได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้าง เดอะ สตรีท รัชดา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 32 ทีม ในงานมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากมายที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ด้วย อาทิ การแสดง “วิทยาศาสตร์แสนสนุก” โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ การแนะแนวสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย การเล่นเกมส์ตอบคำถามวิทยาศาสตร์ชิงรางวัลบนเวที ช่วงพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจ “มหัศจรรย์ของธาตุและถิ่นที่อยู่” โดยคุณอาจวรงค์ จันทมาศ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง จากรายการ The Standard Podcast “ใด ๆ ในโลกล้วนฟิสิกส์”
นายสุพจน์ เกตุโตประการ รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow มุ่งสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทย เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่จะคิดค้นนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคต โครงการห้องเรียนเคมีดาว ไม่เพียงเพิ่มโอกาสที่เท่าเทียมในการทดลองเคมีให้กับเด็กไทยทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะใช้สารเคมีน้อย ช่วยลดของเสียจากการทดลอง อีกทั้งช่วยประหยัดพลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตและขนส่งอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ รวมทั้งสารเคมีจำนวนมากที่แต่ละโรงเรียนต้องใช้”
ศ.ดร.วุฒิชัย พาราสุข นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “การทำการทดลองด้วยเทคนิคปฏิบัติการแบบย่อส่วนจะทำให้ผู้เรียนเกิดการคิด วิเคราะห์ และเข้าใจหลักการทางเคมีได้อย่างลึกซึ้ง จึงเหมาะที่นำมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนในโรงเรียน นอกจากจะสร้างทักษะให้นักเรียน ยังสร้างความมั่นใจให้นักเรียนสามารถทดลองเองได้อย่างปลอดภัยและกล้าคิด กล้าออกแบบการทดลองใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญาหาต่าง ๆ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยต่อไป”
นายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “การประกวดในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จที่ชัดเจนของของ สพฐ. และพันธมิตรจากการนำเคมีแบบย่อส่วนเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไทย เป็นการเปิดประตูสู่โอกาสทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายและทันสมัยให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ได้เรียนรู้และทดลองเคมีที่มีขนาดเล็กและปลอดภัย สามารถเข้าถึงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แม้ในพื้นที่ห่างไกล คุณครูได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในบทเรียนในหลักสูตรให้สอดรับกับบริบทของท้องถิ่นได้จริง จนสามารถส่งโครงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์สู่เวทีการประกวดได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งสพฐ.ตั้งใจว่าจะขยายผลการสอนด้วยการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้ไปถึงโรงเรียนจำนวนมากยิ่งๆ ขึ้นต่อไป และหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมประกวดมากยิ่งขึ้นในทุก ๆ ปี”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ชุดทดลองห้องปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้การเรียนเคมีเป็นเรื่องง่ายและสนุก เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีห้องปฏิบัติการเคมี สามารถคิดและทำโครงงานด้านเคมีได้อย่างหลากหลาย อพวช. เชื่อมั่นว่าการที่เด็กและนักเรียนสามารถเข้าถึงและใช้งานห้องปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนนี้ได้ จะเป็นการปลูกฝังความรักและความสนใจในวิชาเคมีมากขึ้น และขยายผลต่อความสนใจในวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ อีกด้วย
ผลการแข่งขัน DOW-CST AWARD ครั้งที่ 9 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วย 1) รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศ จากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ. ปราจีนบุรี จากโครงงาน Electric Greenery 2) รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ. นครปฐม จากโครงงานอัตราการสลายตัวของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เมื่อใช้เม็ดวุ้นอัลจิเนตผสมแมงกานีสออกไซด์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท 3) รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนเมืองนครนายก จ. นครนายก และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จ. กรุงเทพฯ ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
ผลการแข่งขันในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 1) รางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลเกียรติยศ จากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้แก่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 จ. สงขลา จากโครงงานชุดปฏิบัติการเคมีย่อส่วน เรื่องการแพร่ 2) รางวัลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จ. เชียงราย จากโครงงานปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ของแก๊ส ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท 3) รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ โรงเรียนโยธินบูรณะ จ. กรุงเทพฯ และโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ. ปราจีนบุรี ได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ โครงการฯ ได้มอบรางวัลพิเศษ หรือรางวัล Popular View จำนวน 1 รางวัล ให้กับทีมที่มียอดชมคลิปการทดลองสูงสุดบน YouTube ของ Dow Thailand โดยตัดสินจากยอดการชมวิดีโอเท่านั้น ได้แก่ โรงเรียนสตูลวิทยา จ. สตูล ซึ่งได้รับเงินรางวัลพิเศษ 10,000 บาท
สำหรับคุณครูที่ปรึกษาของทั้ง 32 ทีม ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จะได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2024) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ พร้อมได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกของสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และเป็นครูต้นแบบของโครงการฯ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งครูที่ผ่านการฝึกอบรมภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จะสามารถนำชั่วโมงการอบรมบรรจุในการขอหรือเลื่อนวิทยาฐานะของครูผู้สอนได้ต่อไป