เบตง เชียร์กีฬาพื้นบ้านอย่างมันส์ เฮกันลั่น ขำกลิ้ง ทั้งพายเรือกะละมัง ชกมวยตับจาก มวยทะเล ขูดมะพร้าว สร้างสีสันความสนุกสนานในงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย ประจำปี2566 อย่างมาก
วันที่ 31 ต.ค.66 ที่บริเวณสวนน้ำเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย ประจำปี 2566 เพื่อสืบสานอนุรักษ์ประเพณีชักพระ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ร่วมทำบุญเรือพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น ได้มีประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและมาเลเซียจำนวนมาก มาชม เชียร์กีฬาพื้นบ้านที่ทางอำเภอเบตงจัดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสีสันของงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย ดึงดูดความสนใจพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก บรรยากาศในการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านแต่ละประเภท ก็จะเรียกเสียงเชียร์ เสียงเฮฮาแตกต่างกันไป ซึ่งก็สร้างความสนุกสนานให้กองเชียร์ผู้ที่มาเที่ยวงานเป็นอย่างมาก
การแข่งขันเริ่มจากพายเรือกะละมัง ซึ่งมีผู้ลงแข่งขันจำนวน 16 คน วิธีการแข่งขันจะแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน ผู้แข่งขันจะลงไปนั่งตรงกลางกะละมังพลาสติกขนาดใหญ่ พร้อมสวมเสื้อชูชีพ จากนั้นจะพายเรือกะละมังระยะทางประมาณ 20 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่เป็นไม้พาย ใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ โดยผู้แข่งขันจะต้องใช้ทักษะในการพายกะละมังให้เคลื่อนไปข้างหน้า แต่ด้วยกะละมังที่มีลักษณะวงรี จึงทำให้กะละมังของผู้แข่งขันหลายคนหมุนเป็นวงกลม พายตัดลู่กันไปมา บ้างก็พายแล้วไม่ไปข้างหน้า แต่หมุนอยู่กับที่ ผู้แพ้กว่าจะเข้าเส้นชัยได้ พายออกนอกลู่ไปไกลกว่าจะกลับมาเข้าเส้นชัย บางคนกะละมังล่มจมน้ำ ซึ่งก็เรียกเสียงฮาจากกองเชียร์และผู้ที่มาชม
กีฬาประเภทที่ 2 ที่แข่งขัน คือการชกมวยตับจาก ซึ่งมีผู้ร่วมแข่งขันถึง 12 คู่ การชกมวยตับจากเป็นอีกประเภทกีฬาที่เรียกคนดูได้เป็นอย่างมาก กองเชียร์ ผู้ชม ก็เชียร์นักมวยกันดั่งสนั่น สนุกสนาน สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ จากกองเชียร์และผู้ชมได้เป็นอย่างมาก โดยกีฬาชกมวยตับจากเป็นการละเล่นพื้นบ้านของไทย ซึ่งสมัยก่อนจัดขึ้นตามงานวัด งานบุญประเพณีสำคัญต่างๆ แต่สมัยนี้เริ่มหาดูยากแล้ว โดยชาวบ้านจะนำ “ตับจาก” ที่ใช้มุงหลังคามาเป็นพื้นเวที เพื่อให้นักมวยได้ชก โดยก่อนทำการชก นักมวยทั้งคู่ต้องผูกตาด้วยผ้า และจับให้อยู่คนละมุม เมื่อกรรมการตีระฆังส่งสัญญาณเริ่มชก นักมวยจะเดินออกจากมุมเพื่อหาคู่ต่อสู้และต่อยกัน
โดยนักมวยจะอาศัยการฟังเสียงเดินเหยียบตับจากของคู่ชก ฟังเสียงลั่นกรอบๆ แกรบๆ ของใบจากที่ปูไว้ เพื่อจับทิศทางของคู่ต่อสู้ เมื่อมีเสียงดังขึ้นมา ทั้งคู่ก็จะเข้าสาวหมัดใส่กัน ชกผิด ชกถูก เป็นที่ตลกฮาและสนุกสนานของผู้ชม นักมวยแต่ละคู่จะแลกหมัดกันอย่างดุเดือด แต่ความสนุกสนานที่เรียกเสียงฮาเกิดจากการต่อยผิดต่อยถูกของนักมวย บางทีคิดว่ากรรมการคือคู่ต่อสู้ จึงชกสวนไปอย่างต่อเนื่อง โชคดีที่กรรมการหลบหมัดได้ แต่ก็มีหลายครั้งที่กรรมการโดนลูกหลงถูกหมัดของนักมวยเหมือนกัน ในขณะที่ผู้ชมที่อยู่ข้างเวที ก็ต้องคอยระมัดระวัง เช่นกัน เพราะนักมวยมองไม่เห็น แม้แต่ช่างภาพ ตากล้อง ก็อาจโดนหมัดของนักมวยได้ หากถ่ายเพลินไม่ระมัดระวัง หลังจากมวยตับจากจบ
การแข่งขันขูดมะพร้าวก็เริ่มขึ้น ซึ่งการแข่งขันขูดมะพร้าว จะแบ่งเป็นประเภทชายและประเภทหญิง ผู้แข่งขันจะนำกระต่ายขูดมะพร้าวมาเอง กรรมการจะให้เวลาในการขูดมะพร้าว 2 นาที พอหมดเวลา กรรมการจะนำมะพร้าวที่ขูดได้ไปชั่งน้ำหนัก ผู้แข่งขันที่ขูดมะพร้าวได้น้ำหนักมากสุดจะเป็นผู้ชนะ ถึงแม้การแข่งขันขูดมะพร้าวจะไม่มีเสียงฮา แต่จำนวนผู้ชม เสียงเชียร์ ของกองเชียร์ ก็ไม่แพ้รายการอื่น เชียร์กันเสียงดั่งสนั่น ในขณะที่ผู้แข่งขันก็ขูดอย่างไม่สนใจอะไร ไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว
ในขณะที่การแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้าย อย่าง ชกมวยทะเล ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์เลย ก็ว่าได้ มีผู้มารอชมจำนวนมากสุด ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในงาน ก็ยังต้องหยุดดู จนมีผู้ชม กองเชียร์อยู่รอบสวนน้ำเลยทีเดียว ถึงแม้จะเริ่มมืดค่ำ การแข่งขันยังไม่หมด ผู้คนก็ไม่ยอมกลับ แต่กลับจำนวนผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกรรมการเป่านกหวีดให้สัญญาณเริ่มชก นักมวยมุมแดงและมุมน้ำเงินก็ใช้ชั้นเชิงในการชก ออกลีลาในการชกแตกต่างกันออกไป บางคู่ไม่ทันจะได้ชกก็ตกน้ำแล้ว แต่บางคู่ก็เหนียว แม้ว่าจะโดนต่อย โดนทุบ ก็ยังเกาะไม้ไม่ยอมตกน้ำง่ายๆ และหาทางขึ้นมาตั้งหลักชกต่อ นักมวยบางคนก็อยู่นิ่งคอยยั่วให้คู่ต่อสู่เข้ามาหา บากคนชกคู่ต่อสู่ได้แต่ก็ตกน้ำเสียเอง
ในขณะที่กองเชียร์ผู้ชมก็ส่งเสียงเชียร์กันดังสนั่น หากนักมวยฝั่งที่ตัวเองเชียร์เป็นฝ่ายชนะก็ ส่งเสียงเฮ ดีใจกันดังลั่น เมื่อมีนักมวยตกน้ำ เสียงหัวเราะ ขำขันก็จะดังไปทั่วเช่นกัน ในขณะที่นักมวยบางคน ยังไม่ทันจะชก ลีลา ท่าทางก็เรียกเสียงหัวเราะเสียงฮา รอยยิ้ม จากผู้ชมได้แล้ว และที่ขาดไม่ได้ ที่สร้างความสนุกสนาน สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมและกองเชียร์ นั้นคือ เสียงของคนพากย์ ซึ่งงานนี้ นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง โชว์ลีลาการพากย์ด้วยตนเอง ในกีฬาทุกประเภท ซึ่งใช้เวลาในการพากย์กว่า 3 ชั่วโมง เรียกว่าไม่ยอมวางไมค์ พากย์จนเสียงแหบ คอแห้งกันเลยก็ว่าได้