สระบุรี – พาณิชย์จังหวัดสระบุรีมอบหนังสืออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไทย สินค้าเผือกหอมบ้านหมอ ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต(มีคลิป)

สระบุรี – พาณิชย์จังหวัดสระบุรีมอบหนังสืออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไทย สินค้าเผือกหอมบ้านหมอ ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต(มีคลิป)

วันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ห้องรับรองชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสระบุรี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด สระบุรี เป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไทย สินค้าเผือกหอมบ้านหมอ ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการ
ตามที่ จังหวัดสระบุรี ได้ขอขึ้นทะเบียน “เผือกหอมบ้านหมอ” เป็นสินค้าสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียน เผือกหอมบ้านหมอ เป็นสินค้า GI เรียบร้อยแล้ว โดยมีทะเบียนเลขที่ สช 65100172 ประกาศ ณ วันที่ 25 มกราคม 2565 ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดสระบุรี กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ได้มีการจัดประชุมขี้แจงโครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI เผือกหอมบ้านหมอ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ และเมื่อวันที่ 24 และ 26 พฤษภาคม 2566 คณะทำงานเพื่อการพิจารณาคำขอ ตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)ได้มีการลงพื้นที่ ตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้า GI เผือกหอมบ้านหมอให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าที่ประสงค์จะขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 40 ราย


ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า “เผือกหอมบ้านหมอ” ได้มีการประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และผลการตรวจสอบกระบวนการผลิต และได้เสนอรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขออนุญาตใช้ตรา GI ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ส่งหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สินค้าเผือกหอมบ้านหมอ จำนวน 40 ราย ซึ่งออกให้ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2566 เพื่อมอบให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า โดยหนังสืออนุญาต มีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต


“เผือกหอมบ้านหมอ” ปลูกในจังหวัดสระบุรีครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอบ้านหมอ อำเภอดอนพุด และอำเภอหนองโดน เป็นเผือกหอมมีหัวขนาดใหญ่ สายพันธุ์เผือกหอมเชียงใหม่หรือเผือกหอมพิจิตร เนื้อเผือกมีสีขาวอมม่วงอ่อน มีเส้นใยสีม่วงกระจายทั่วหัว เมื่อนำมานึ่งหรือต้มเนื้อเผือกจะร่วนซุย และมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษกว่าเผือกหอมทั่วไป


การขึ้นทะเบียนสินค้า GI เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยในแง่ผู้ผลิต สินค้าที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับความคุ้มครอง คนในท้องถิ่นอื่นที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน เอาชื่อ GI ไปใช้โปรโมทสินค้าตนเองไม่ได้ เพราะจะเป็นการละเมิด และมีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยสินค้าใดที่เป็น GI แล้ว มูลค่าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า ช่วยยกระดับรายได้ท้องถิ่น และยังทำให้ผู้ผลิตต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐานของสินค้า เพื่อคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของสินค้า ส่งผลให้ขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศอีกทั้งยังเปิดแหล่งผลิตเป็นที่ท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้ชุมชนได้อีก
**************

กฤษฎา สมมาตร
รายงานข่าว

Related posts