“JPARK” เดินสายโรดโชว์ 8 จังหวัด มั่นใจพื้นฐานแกร่ง นักลงทุนตอบรับดี
“เจนก้องไกล” เดินหน้าโรดโชว์ 8 จังหวัด 16 ส.ค.-5 ก.ย. 66 ประเดิมที่ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และปิดท้ายที่กรุงเทพฯ เสนอขาย IPO 110 ล้านหุ้น โชว์พื้นฐานธุรกิจแกร่ง มั่นใจได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
เมื่อค่ำวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดหลักทรัพย์แก่นักลงทุน โดยมี นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK, นายสุดวิณ ปัญญาวงศ์ขันติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงินบริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) , นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน),นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ,
นายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ,คุณนวลพรรณ วิวิธนาภรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ,นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น),นายสมลักษณ์ เธียรพจน์ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น) และนายภควัฒน์ ตุลยนิติกุล ผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น) ตอบข้อซักถามจากนักลงทุนและผู้สื่อข่าว ตลอดจนนักลงทุนผู้เข้าฟังการนำเสนอข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมที่จะเดินทางไปนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน หรือโรดโชว์ เพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวน 110 ล้านหุ้น โดยจะเดินทางไปนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน 8จังหวัดประกอบไปด้วย จังหวัดชลบุรีในวันที่ 16 สิงหาคม จังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่นในวันที่ 21 สิงหาคม จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 22 สิงหาคม จังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 28 สิงหาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 30 สิงหาคม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในวันที่ 1 กันยายน และปิดท้ายการนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครในวันที่ 5 กันยายน
ด้านนายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) JPARK เปิดเผยว่า บริษัทฯมีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากบริษัทฯได้เตรียมข้อมูลธุรกิจซึ่งมีความแข็งแกร่ง และแผนในการขยายธุรกิจที่มีศัยภาพที่จะสามารถต่อยอดการเติบโตได้ในอนาคต ซึ่ง JPARK มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถมามากกว่า 20 ปี สามารถนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเภทได้อย่างครบวงจร ซึ่งภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในครั้งนี้ เป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 110,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หรือพาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละไม่เกิน 27.50 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ รวมเป็นทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
โดยเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยผลักดันให้สามารถขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต ด้วยทีมงานที่มีความพร้อมและประสบการณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญในธุรกิจ
ส่วนนายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะแกนนำการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายของบริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า JPARK ประกอบธุรกิจด้านการให้บริหารที่จอดรถ ด้วยทีมงานด้านการบริหารงานที่มีประสบการณ์สูงครอบคลุมในทุกลักษณะงาน โดยเฉพาะงานด้านการจัดการจราจร การจัดเก็บเงินค่าจอดรถ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมที่จอดรถที่ทันสมัยและการบริการดูแล บำรุงรักษา สถานที่จอดรถ อาคารจอดรถ ลานจอดรถ เพิ่มการใช้พื้นที่จอดรถให้มีประสิทธิภาพสูง โดยธุรกิจของ JPARK เป็นธุรกิจที่มีรายได้ที่ค่อนข้างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยภายหลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รายได้ในส่วนงานบริหารที่จอดรถ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้มาใช้บริการที่จอดรถที่ทยอยฟื้นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงรายได้จากการรับจ้างบริหารพื้นที่จอดรถที่เติบโตขึ้น ทั้งจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และโครงการที่บริษัทฯ ให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ซึ่งเมื่อติดตั้งระบบที่จอดรถแล้วเสร็จส่วนใหญ่ก็จะจ้างบริษัทฯ ให้บริหารจัดการพื้นที่จอดรถอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้ที่เกิดขึ้นประจำต่อเนื่อง (Recurring Income)
นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS) 2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS) โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องจอดภายใต้การดูแลกว่า 28,000 ช่องจอด โดยมีทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อ-จุดเปลี่ยนผ่านกับระบบรถไฟฟ้า บริเวณศูนย์การค้า/ตลาด บริเวณโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน ซึ่งพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
โดยภายหลังจากการระดมทุน JPARK มีแผนที่จะลงทุนขยายโครงการอาคารจอดรถบริเวณโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวน 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร พื้นที่พาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567 รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ”เรามีความพร้อมอย่างยิ่งในการเดินทางไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน ซึ่งด้วยพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ เราจะสามารถเสริมศักยภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการให้บริการ รวมถึงบริหารพื้นที่จอดรถด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต ทำให้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้ง 8 จังหวัด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้อย่างแน่นอน” นายสันติพลกล่าว
ในขณะที่ผลประกอบการของ JPARK ในปี 2563-2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 286.17 ล้านบาท 243.61 ล้านบาท และ 455.09 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 6.51 ล้านบาท ขาดทุน 10.99 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 55.05 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในช่วงปี 2563 จนถึงต้นปี 2565 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown จากสถานการณ์ COVID-19 จึงส่งผลให้รายได้จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (PS) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2565 เมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับการที่บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (PMS) และธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (CIPS) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมในปี 2565 บริษัทมีรายได้ และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น.