กาฬสินธุ์เกษตรเร่งสำรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังพบระบาดแล้วกว่า 2 พันไร่

สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับเกษตรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และผู้นำชุมชนลงพื้นที่เร่งสำรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังของเกษตรกรในตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ หลังพบแพร่ระบาดแล้วใน 5 อำเภอกว่า 2,000 ไร่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเตรียมปูพรมสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร


วันที่ 2 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอารักขาพืช นักวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และผู้นำชุมชนลงพื้นที่สุ่มสำรวจโรคใบด่างในแปลงปลูกสำปะหลังของเกษตรกรในตำบลเชียงเครือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ หลังจากปัจจุบันพบว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังกำลังระบาด โดยเบื้องต้นพบระบาดใน 5 อำเภอกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่ได้ผลิตตามเป้าหมาย


นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับ จ.กาฬสินธุ์มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 296,494 ไร่ ซึ่งสถานการณ์โรคใบมันสำปะหลังในขณะนี้ ล่าสุดพบการระบาดใน 5 อำเภอ ซึ่งขณะนี้ทางเกษตรอำเภอรายงานเข้ามารวม 1,942 ไร่ และมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีเกษตรกรบางส่วนไม่แจ้งเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง ทางสำนักงานเกษตรอำเภอต่างๆอยู่ระหว่างการเร่งลงพื้นที่สำรวจการระบาดอย่างแท้จริงอยู่
นายสันติภาพ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุของโรคใบด่างมันสำปะหลังนั้นมีอยู่ 2 ส่วน สาเหตุแรก คือมาจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรสั่งซื้อจากทางเอกชน และซื้อทางออนไลน์ ซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการ และเป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรคใบด่าง สาเหตุอีกส่วนหนึ่งคือแปลงมันสำปะหลังในพื้นที่เกิดการระบาดของโรคอยู่แล้ว และมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะโรคจากแปลงที่ระบาดกระจายไปยังแปลงมันสำปะหลังข้างเคียง


นายสันติภาพ กล่าวว่า ในส่วนแนวทางการป้องกันเบื้องต้นทางสำนักงานเกษตรได้สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกรูปแบบ ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ จัดการอบรม ประชุมงานรณรงค์ วิทยุ หอกระจายข่าวหมู่บ้าน รวมทั้งให้นักวิชาการเกษตรที่รับผิดชอบแต่ละตำบลลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนโรงแป้งมันในพื้นที่สนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการเข้าทำความเข้าใจกับเกษตร แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใหญ่ เป็นพื้นที่แหล่งปลูกและผลิตมันสำปะหลังสำคัญของประเทศไทย ดังนั้นทางเกษตรจังหวัดจะมีการปูพรมในการสร้างการรับรู้และการป้องกันกำจัดโรคนี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตมันสำปะหลังเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเพื่อทำให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ปลอดจากโรคใบด่างมันสำปะหลังต่อไป


นายสันติภาพ กล่าวต่อว่า สำหรับพันธุ์มันสำปะหลังที่พบเกิดโรคใบด่างในพื้นที่ขณะนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพันธุ์ที่เรียกว่า CMR89 ที่ทางเอกชนผลิตขึ้นมาใหม่ ปลูกแล้วหัวมันใหญ่ หากไม่เกิดโรคเกษตรกรหวังไว้ว่าจะได้ผลผลิตสูง แต่มีข้อเสียคืออ่อนแอ ไม่ทนทานต่อโรค และหากเกิดโรคใบด่างแล้วจะให้ใบหงิกงอ หัวมันลีบเล็ก ไม่เจริญเติบโต เปอร์เซ็นต์แป้งน้อย ซึ่งทางราชการแนะนำพันธุ์ปลูกประมาณ 4-5 พันธุ์ เช่น เกษตรศาสตร์50, ห้วยบง60,พันธุ์ระยอง ซึ่งเป็นพันธุ์หลัก ทั้งนี้ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆมีบทบาทกับเกษตรกร โดยเฉพาะการโฆษณา ทำให้เกษตรกรอยากลองของใหม่ๆ โดยยังขาดความรู้ และไม่คำนึงถึงความต้านทานของโรค จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ทราบว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ด้วย


อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรพบต้นมันสำปะหลังโรคใบด่างควรที่จะถอนแล้วทำลายทิ้ง ไม่ต้องไปเสียดาย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดกระจายขยายวงกว้างออกไป หากปล่อยไว้ยิ่งจะทำให้เกิดผลกระทบ และผลผลิตเสียหายหนักกกว่าเดิม เพราะต้นมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาโรคใบด่างหากเทียบกับต้นมันปกติ ระยะเวลาการปลูก ลำต้น นั้นจะแตกต่างกันอยากมาก ซึ่งมันสำปะหลังที่เป็นโรคผลผลิตจะเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์

 

Related posts