เชียงใหม่-โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เจ้าภาพจัดกิจกรรมประชุมวิชาการ โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯนักเรียน ชั้น ม. 6
วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ ห้องประชุมดารารัศมี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ดร.ยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เปิดกิจกรรมประชุมวิชาการ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมีนายบุญเสริญ สุริยา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ คณะผู้บริหาร คณะครู และนักเรียน จากทุกโรงเรียนในโครงการ ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ กลุ่มภาคเหนือตอนบน
นายบุญเสริญ สุริยา ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า ในนามของคณะผู้บริหาร คณะครู และภาคีเครือข่ายโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่าน ที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมในกิจกรรมการประชุมวิชาการ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน ประจำปีการศึกษา 2566 ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในวันนี้
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแม่ข่ายหรือศูนย์การเรียนรู้ในโครงการพิเศษต่าง ๆ มากมาย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมถึงยังได้รับเป็นศูนย์ประสานงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน อีกด้วย ซึ่งในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับนี้ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจึงได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียน ในเครือข่าย รวมถึงองค์กรภาคีเครือข่ายของโรงเรียน และหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ในการระดมสรรพกำลังของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาช่วยกันขับเคลื่อนงานโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งตรงสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน
กิจกรรมการประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ แต่นอกเหนือจากการนำเสนอผลงานเพื่อประกอบการจบหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวแล้ว ทั้งนักเรียนและครูผู้ประสานงานโครงการทุกท่าน ยังจะได้รับประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน สิ่งนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เนื่องด้วยในแต่ละโรงเรียนอาจมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถต่อยอดและเพิ่มพูนชิ้นงานในโครงงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อได้เดินทางมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รับผิดชอบโครงงาน ในหลาย ๆ โรงเรียน อาจจะเป็นการจุดประกายความคิดให้ทุกท่าน นำไปต่อยอดผลงาน หรือโครงงานทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนได้จริง ในวงกว้างต่อไป
นางยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่ากิจกรรมการประชุมวิชาการ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ เพราะในชีวิตประจำวันของนักเรียนและของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้อง กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา วิวัฒนาการทางด้านความรู้ ทำให้มี การเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของชีวิต
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหล่อหลอมให้คนในสังคม รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผล ให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการที่สร้างคนให้มีเหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผ่านการวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือปัญหาในชีวิตประจำวัน ให้อยู่ในแนวทางของเหตุและผล ตามหลักตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองในสังคม ยุคปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต
ด้านนายสมบัติ คำบุญสูง รองผู้อำนวยการโรงเรียน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รองประธานเครือข่ายห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า กิจกรรมการประชุมวิชาการ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กลุ่มภาคเหนือตอนบน ประจำปีการศึกษา 2566 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15โดยโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ข่าย ได้รับฉันทามติ ให้เป็นเจ้าภาพการจัดกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6ของโรงเรียนในเครือข่ายฯ จำนวน 22โรงเรียน จาก 8จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้นำเสนอโครงงานซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การจบการศึกษาของนักเรียนในหลักสูตรโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ฯ และเป็นการเผยแพร่ผลการค้นคว้างานวิจัยของนักเรียนในโครงการฯ สู่สาธารณะชน
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีครูและนักเรียน จำนวน ๖๖๒ คน จากโรงเรียน 23โรงเรียน ในเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือตอนบน เข้าร่วมกิจกรรม โดยดำเนินกิจกรรมระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม พุทธศักราช 2566 รวม 3 วัน ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์ จากคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 10 คน และคณะครู ในโรงเรียนเครือข่ายกลุ่มภาคเหนือตอนบน จำนวน 107 คน มาเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน
กิจกรรมการแข่งขัน ประกอบด้วย การนำเสนอโครงงานประเภทบรรยาย เป็นภาษาอังกฤษ การนำเสนอโครงงานประเภทบรรยาย เป็นภาษาไทย ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์, เคมี ,ชีววิทยา, คณิตศาสตร์
และคอมพิวเตอร์ และการนำเสนอโครงงานประเภทโปสเตอร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์
พัฒนชัย/เชียงใหม่