เชียงใหม่- เปิดเส้นทางท่องเที่ยว ”ตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย”

เชียงใหม่- เปิดเส้นทางท่องเที่ยว ”ตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย”

เมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2566 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน)โดย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนาประจำปี 2566 เส้นทางที่ 4 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย (เชียงใหม่-ลำพูน) ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายการรับรู้ ด้าน การท่องเที่ยววัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ล้านนา

ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่
กล่าวว่า กิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านนาประจำปี 2566 เส้นทางที่ 4 เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย (เชียงใหม่-ลำพูน) เป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เพื่อขยายความรับรู้ในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์

นอกจากทางภาคเหนือ จะมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นหลักอยู่แล้ว อีกสาขาหนึ่งที่น่าจะเป็นสิ่งที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาสนใจในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ คือเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งล้านนามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สำหรับ
ทริปที่วางไว้เป็นการเชื่อมระหว่างเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางเชื่อมออกไปยังลำพูนโดยเฉพาะในเรื่อง “ครูบาศรีวิชัย” เป็นการท่องเที่ยวตามรอยพระอริยสงฆ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในล้านนา

สำหรับทริปนี้เป็นทริปตัวอย่าง กำหนดไว้ 2 วัน 1 คืน เพื่อดูในเส้นทางของเชียงใหม่เชื่อมไปยังลำพูน ตามรอยครูบาศรีวิชัย จะเป็นการเรียนรู้ในเส้นทางตั้งแต่ ประวัติของครูบาศรีวิชัย ออกบวช สร้างคุณานัปการทางพระพุทธศาสนาไว้ที่จุดใดบ้าง ก็เป็นการเรียนรู้และได้สัมผัสวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน

เส้นทางท่องเที่ยว ”ตามรอยธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย” ทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ ในยามเช้าที่บริเวณลาน อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ทางขึ้นดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ กราบสักการะครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูวัดวาอาราม โบราณสถานต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือ ที่ทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญครูบาศรีวิชัย เป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือ ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกเส้นทาง ขึ้นดอยสุเทพ

จากนั้นไปยังวัดจามเทวี เมืองลำพูน สถานที่ที่ครูบาอาพาธ และเป็นสถานที่ที่ครูบาได้สร้างวิหาร อุโบสถเป็นวัดสุดท้าย ภายในวัดมีจารึกของครูบาศรีวิชัย ด้านหลังวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมบอกเล่าเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย ไว้ได้อย่างละเอียด ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา

บ้านใบตาล แหล่งผลิตพัดใบตาล พัดครูบา หมู่บ้านรั้ว ตำบลหนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน ในยุคที่ครูบาศรีวิชัย ท่านยังมีชีวิตอยู่ ครูบา มีพัดใบตาลเป็นเสมือนสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัวท่าน

วัดต้นโชค ต.เหมืองจี้ อ.เมืองลำพูน เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัย แวะพักเสมอเพื่อเสวนากับสหธรรมิกรูปสำคัญ มีกุฏิครูบาและยังมีคัมภีร์ใบลานประวัติครูบา มีผลงานที่สร้างโดยครูบา ด้านหน้าของวัดมีต้นโชคขนาดใหญ่อายุกว่าร้อยปี อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดตั้งอยู่ด้วย

วัดดอยก้อม ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัย ได้สร้างและบุกเบิกใหม่ทั้งหลัง เมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ ครูบาจะแค่บูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซม แต่วัดดอยก้อมจะเริ่มตั้งแต่การวางรากฐาน ก่อสร้างเสนาสนะทุกหลังในวัดนี้ มีจารึกครูบาศรีวิชัย มีรูปปั้นครูบารุ่นเก่าอยู่

จากนั้นเดินทางต่อไปยังวัดป่าพลู บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นอีกวัดหนึ่งที่สำคัญ เป็นเส้นทางธรรมยาตราบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่เป็นที่ครูบาศรีวิชัย ได้สร้างและบูรณะ ภายในวัดมี อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์

วัดบ้านปาง เป็นวัดที่เก่าแก่ของอำเภอลี้ และเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมากของจังหวัดลำพูนและเป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาบวชเรียนเป็นวัดแรกและเป็นสถานที่ดับขันธ์มรณภาพอีกด้วย วัดตั้งอยู่บนเนินเขาร่มรื่นมีลมพัดเย็นตลอดวัน เมื่อมองลงมาด้านล่างจะเห็นทิวทัศน์ ชุมชนศรีวิชัย อีกทั้งมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัย (ของใช้ส่วนตัว) ของท่านไว้ครบถ้วน

อุโบสถ อุปสัมปทาสถานครูบาศรีวิชัย วัดบ้านโฮ่งหลวง  เป็นสถานที่อุปสมบท ครูบาศรีวิชัย สมัยเป็นสามเณรอินท์เฟือน เมื่อปี พ.ศ. 2442 โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์

วัดบ้านโฮ่งหลวง จึงเป็นสถานที่ที่ครูบาศรีวิชัยได้อุปสมบท ทั้งตอนเป็นสามเณรและพระภิกษุและยังเป็นสถานที่ที่ครูบาใช้แวะพักทุกครั้งเมื่อได้เดินทาง จากลี้เข้าตัวเมืองลำพูน และที่สำคัญกว่าที่อื่นนั้นก็ คือ ที่นี่มีอัฐิครูบาศรีวิชัย ที่ไม่ได้เก็บรักษาไว้ในเจดีย์เหมือนที่อื่นๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีประวัติมายาวนาน และมีความสำคัญต่ออำเภอบ้านโฮ่ง ผู้ที่มาเยือนอำเภอบ้านโฮ่งต้องเดินทางมาสักการะ

วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาก
แห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน เมื่อเข้าสู่ลานวัดจะเห็นพระวิหารจัตุรมุขครอบรอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ภายใน ตกแต่งด้วยกระจกสีสันสันสวยงามตามฝาผนังมีภาพจิตรกรรมที่สวยงามน่าชม เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยได้เป็นอย่างดี

ตามตำนานรอยตากผ้า ได้กล่าวไว้ว่าในสมัยพระพุทธองค์ เคยเสด็จมาประทับที่นี่แล้วทรงนำจีวรออกตากไว้บนผาลาด ใกล้ที่ประทับ ซึ่งปรากฏเป็นรอยรูปตาราง คล้ายรอยจีวรบนแผ่นศิลาในปัจจุบันก็ยังปรากฎรอยตารางจีวรอยู่จนทุกวันนี้ วัดแห่งนี้จึงมีชื่อว่า วัดพระพุทธบาทตากผ้า

“ครูบาศรีวิชัย” ซึ่งท่านเป็นพระสงฆ์ที่สร้างคุณูปการให้กับพุทธศาสนาในพื้นที่ของล้านนาอย่างมากมาย ควรค่าแก่การอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่แพร่หลายสืบไป

 

วิภาดา/เชียงใหม่

Related posts