ปทุมธานี ชาวลาดหลุมแก้วร่วมปลูกกล้วย 200 ต้นริมคลองสาธารณะเพิ่มพื้นทีสีเขียวเป็นแหล่งอาหารให้ ปชช. ฟรี

ปทุมธานี ชาวลาดหลุมแก้วร่วมปลูกกล้วย 200 ต้นริมคลองสาธารณะเพิ่มพื้นทีสีเขียวเป็นแหล่งอาหารให้ ปชช. ฟรี

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณริมคลองลากค้อน หมู่ที่ 10 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ภายใต้การอำนวยการของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นำโดย นางรัฐยา อาจหาญ เผยพร นายอำเภอ ลาดหลุมแก้ว พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ของอำเภอลาดหลุมแก้ว ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยในที่สาธารณะ บริเวณริมคลองลากค้อน ระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้มนุษย์และสัตว์


บรรยากาศการร่วมกิจกรรมปลูกต้นกล้วย กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง กล้วยหอมทอง จำนวน 200 ต้น เพิ่มพื้นทีสีเขียวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างอาชีพและรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตคุณในชุมชนอย่างยั่งยืน มีข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสาในโครงการจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ มาร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน และร่วมเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ประชาชนใกล้เคียงสามารถช่วยดูแล และหากมีผลออกมา สามารถเก็บรับประทานได้ฟรี
ด้าน นางรัฐยา อาจหาญ เผยพร นายอำเภอลาดหลุมแก้ว กล่าวว่า

การทำกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ มุ่งมั่นน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ “พึ่งพาตนเอง” และถือว่าการปลูกต้นกล้วยในพื้นที่สาธารณะครั้งนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้นำแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ผ่านนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทาง “หนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) รวมถึงพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สอดคล้องกับแนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน”

ซึ่งการเลือกปลูกต้นกล้วยถือว่ามีประโยชน์มากมายมหาศาล สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น ใบ และผล โดยต้นกล้วยสามารถช่วยป้องกันตลิ่ง การกัดเซาะของหน้าดิน ผลที่ได้มีทั้งหัวปลี หวีกล้วย หยวกกล้วยที่ประชาชนสามารถบริโภคได้ทั้งหมด จนสามารถเผื่อแผ่ให้สัตว์ต่างๆ ได้บริโภค รวมถึงใบตองสามารถนำมาห่ออาหาร และทำประโยชน์ต่างๆ ได้นานัปประการ การทำกิจกรรมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชน ประชาชนมีสุข สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ และเป็นต้นแบบให้กับตำบล หมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ได้สืบต่อไป

 

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

Related posts