กาฬสินธุ์สางปัญหาฟาร์มหมูขี้เหม็นขีดเส้นตาย2สัปดาห์แก้ไขให้เสร็จ

นายอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย แก้ไขปัญหาฟาร์มหมูขี้เหม็น สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนจนเป็นโรคปวดหัวปวดประสาท ก่อนมีมติให้แก้ไข 2 ระยะ คือต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์ และแก้ไขปัญหาทั้งระบบให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หากไม่เสร็จภายในกำหนด มีบทลงโทษตามกฎหมาย


จากกรณีชาวบ้าน 2 ใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนสาหัส จากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุดล่ารายชื่อ และร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


ล่าสุดวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ เป็นประธานประชุมการแก้ปัญหาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งปศุสัตว์, ธ.ก.ส., ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สาธารณสุข, อัยการคุ้มครองสิทธิ, โยธาธิการและผังเมือง, กอ.รมน., ตำรวจ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ตัวแทนบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงหมู, ผู้ประกอบการเลี้ยงหมู และชาวบ้านที่เดือดร้อน ร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางบรรยากาศที่เข้มข้นตึงเครียด เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ที่ชาวบ้านต้องทนทุกข์ทรมานกับการสูดดมกลิ่นเหม็นของขี้หมูแทนอากาศบริสุทธิ์


นายเดือน ไชยสาท อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58/1 บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู เป็นเรื่องหมักหมมมานานเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว เคยร้องเรียนครั้งแรกกับผู้ใหญ่บ้านและ อบต.สหัสขันธ์เมื่อวันที่ 3 เม.ย.66 การแก้ไขยังไม่มีเลย มีแต่ปลอบใจให้ชาวบ้านว่าใจเย็นๆ ขณะที่กลิ่นเหม็นรุนแรงขึ้นตามลำดับ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับตนและเพื่อนบ้านจนปวดหัวปวดประสาทไปตามๆกัน จึงได้ร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอและแจ้งความที่ สภ.สหัสขันธ์ จนถึงวันนี้ที่มีการเรียกประชุมทุกภาคส่วนก็ดีใจ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจะพบทางออกที่ดี
ขณะที่นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า

ปัญหาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นจากฟาร์มเลี้ยงหมูดังกล่าว ทางอำเภอได้รับหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 15 พ.ค.66 ซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบว่าฟาร์มเลี้ยงหมูได้ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านจริง จึงได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยขอข้อมูลเริ่มต้นความเป็นมาของการส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงหมู กับบริษัทเอกชน ซึ่งส่งตัวแทนเข้าประชุม ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ทั้งในส่วนของการประชาคม การขอสินเชื่อ ธ.ก.ส.รายละประมาณ 6 ล้านบาท การเคลื่อนย้ายสัตว์ การขอใบอนุญาต บริหารจัดการในฟาร์ม เป็นต้น


นางสาวแววตากล่าวอีกว่า จากรายงานในที่ประชุม พบหลายจุดที่ต้องแก้ไข เช่น บางฟาร์มยังไม่ได้รับใบอนุญาตรับรองมาตรฐานการจัดตั้งฟาร์ม ข้อมูลการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงที่คลาดเคลื่อน ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูยังขาดประสบการณ์และขาดองค์ความรู้ การจัดทำระบบเลี้ยงในฟาร์ม โดยเฉพาะการกำจัดของเสียยังไม่สมบูรณ์ จึงเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาส่งกลิ่นเหม็นดังกล่าว


“การแก้ไขปัญหา ที่ประชุมมีมติแก้ไข 2 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบให้กับชาวบ้าน คือจัดหาผ้ายางหรือเต็นท์คลุมบ่อบำบัดน้ำเสียหรือไม่ก็ฝังกลบ ตามความพร้อมหรือความเหมาะสมของพื้นที่ โดยให้รีบดำเนินการทันทีก่อนที่จะมีฝนตกลงมา และ 2. การแก้ไขปัญหาระยะยาวภายใน 2 เดือน คือหลังจากจำหน่ายหมูภายในฟาร์มออกหมด ให้ดำเนินการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย คือจัดทำถุงบรรจุแก๊ส เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง หรือจัดทำบ่อบำบัดตามกระบวนการของฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการแล้วเสร็จภายในกำหนด จะมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป ขณะที่ในส่วนของการขอรับใบอนุญาต ยังให้โอกาสทำการขอ เพราะเห็นใจเกษตรกรที่กู้เงินมาลงทุนจำนวนมาก แต่หากไม่ผ่านการรับรอง ก็ให้หยุดกิจการ” นางสาวแววตากล่าว

Related posts