นักวาดการ์ตูนไทย จับมือกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)และสสส.ประชุมให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.พญ.เริงฤดีชี้ สังคมยังเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนและช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ ด้านเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ฯแฉ ผู้ปกครองตามไม่ทันเด็กป.5 –ป.6สูบบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว ส่วนนักวาดการ์ตูนยินดีเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆให้สังคมรับรู้
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง “นักวาดการ์ตูนไทย ใส่ใจพิษภัยบุหรี่” เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเดอะรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพ มีนักวาดการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำนักต่างๆเข้าร่วม โดยมี นายพิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้ประกาศ ข่าวเด็ด 7 สี สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD เป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ผู้ที่ศึกษาเรื่องพิษภัยของบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าจาก ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่ามี 3 ความเข้าใจผิดและ 8 ข้อเท็จจริงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่คนไทยควรรู้ 3 ความเข้าใจผิดคือ1. บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 2. บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ และ 3. บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้พุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน สิ่งที่ถูกต้องคือบุหรี่ไฟฟ้า มีอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่มวน ไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มิหนำซ้ำยังมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่แบบมวนด้วย และสุดท้ายกลุ่มเป้าหมายของบุหรี่ไฟฟ้าคือเด็ก เยาวชนและคนหนุ่มสาววันทำงาน ทั้ง 3 ประเด็นความเข้าใจผิดเป็นข้อมูลที่ออกมาจากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อทำการตลาดและและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้เคยถูกใช้มาก่อนกับการโฆษณาบุหรี่ในอดีต
รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่าข้อเท็จจริง 8 ข้อที่ทุกคนควรรับรู้คือ 1. บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกับในบุหรี่ธรรมดา และยังพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ มีปริมาณสารนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ ธรรมดาหลายเท่า โดยบางยี่ห้อ บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่งมีปริมาณสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดา 50 มวน นิโคตินเป็นสารเสพติดที่อันตรายส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนโดยสารนิโคตินจะไปทำลายกระบวนการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการทางสมองของเด็กและวัยรุ่นส่งผลกระทบในระยะยาว
2. บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดอื่น ๆ ที่เป็นพิษอีกมหาศาล ซึ่งมีสารพิษจำนวนมากที่ยังไม่รู้จัก ที่สำคัญพบว่าในบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยสารก่อมะเร็งหลายตัว รวมทั้งโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว นิกเกิ้ล และสารที่มีอนุภาคขนาดเล็กหรือฝุ่นจิ๋วที่เข้าสู่ปอดได้ง่ายทำอันตรายต่อสุขภาพ 3. พบปัญหาโรคปอดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในระยะเฉียบพลันและระยะสั้นซึ่งรุนแรงกว่าผลจากการสูบบุหรี่ธรรมดา เช่น โรคปอดอักเสบเฉียบพลันที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2562-2563 ทำให้คนป่วยรุนแรงถึงเกือบ 3,000 คนและมีคนเสียชีวิตรวม 68 คน ซึ่งในประเทศไทยเริ่มพบคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอาการปอดอักเสบเฉียบพลันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 4. ผลกระทบระยะยาวจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ทราบ แต่หากผลกระทบระยะเฉียบพลันและระยะสั้นของการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากพบอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคปอดอักเสบ และพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดมะเร็งปอดในหนูทดลอง แต่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามักจะสร้างข้อมูลบิดเบือนอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
จากงานวิจัยพบว่า งานวิจัยที่สนับสนุนโดยธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ (93%) มักจะสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ซึ่งต่างโดยสิ้นเชิงกับงานวิจัยที่เป็นกลางที่ส่วนใหญ่ (95%) ที่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ 5. อันตรายจาก การสูบบุหรี่ไฟฟ้าบางอย่างทับซ้อนกับการสูบบุหรี่ธรรมดา แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษบางอย่างที่ไม่พบในบุหรี่ธรรมดา ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ใช่บุหรี่ธรรมดาที่มีความเจือจางลง 6. บุหรี่ไฟฟ้ากำลังทำการตลาดพุ่งเป้า ไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนำไปสู่รุ่นของผู้เสพติดนิโคตินอันเป็นภัยพิบัติ และจากงานวิจัยพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา ซ้ำยังทำให้คนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาไปแล้วกลับมาสูบบุหรี่ธรรมดา เพิ่มขึ้น 7. องค์การอนามัยโลกยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ ซ้ำพบว่าคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ส่วนมากจะสูบบุหรี่ทั้งสองอย่างซึ่งมีอันตรายมากกว่าสูบอย่างเดียว 8. บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในประเทศไทย ทั้งกรณีจำหน่าย ให้บริการ นำเข้า ครอบครองและสูบในที่สาธารณะที่ห้ามสูบ
“ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในไทยที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติพยายามจะผลักดันให้ฝ่ายการเมืองของไทยยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย มีการตั้งมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ (Foundation for a Smoke Free World) เป็นองค์กรบังหน้าเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์บุหรี่และกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยก็ทำงานให้กับองค์กรที่รับเงินจากมูลนิธินี้เช่นกัน จึงขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนด้วย” คุณหมอเริงฤดีกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่คนทำงานด้านเด็กและเยาวชนนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หากย้อนภาพในอดีตเพื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่มวนจะพบว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่เป็น กลุ่มวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายอายุ 13-18 ปี แต่ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดไปยังกลุ่มเด็กระดับประถมศึกษาอา ยุ 10-12 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และปัญหาที่สำคัญคือครูและผู้ปกครองยังขาดความเข้าใจและยังไม่รู้จักอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ส่งผลทำให้การคัดกรองของใช้ในกลุ่มเด็กถูกละเลยไปทำให้การพกพาหรือการสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มบุหรี่ไฟฟ้าทำได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนั้นในน้ำยาบุหรี่ ไฟฟ้าพบสารเคมีหลายชนิด เช่น โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบทำให้เกิดไอระเหยและกลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมกับสารโพรไพลีนไกลคอล แม้องค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา จะยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงความปลอดภัยกรณี กลายสภาพเป็นไอที่สูบหรือสูดในบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเสพติดอย่างนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่มวน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมอง ระบบอวัยวะสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็กและเยาวชนด้วย
ด้านนักวาดการ์ตูน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มากเพราะข้อมูลหลายอย่างที่ได้รับฟังไม่เคยรู้มาก่อนและหลายอย่างก็เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะสิ่งที่สังคมรับรู้คือบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนซึ่งไม่เป็นความจริงและการสื่อสารจากผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ก็กลายเป็นว่าต้องมาสูบทั้ง 2 อย่างยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะต้องช่วยกันสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องผ่านสื่อการ์ตูนในช่องทางต่างๆที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ และสุดท้ายนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวปิดการประชุมว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามโครงการ เสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นักวาดการ์ตูนเป็นสื่อมวลชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะและสสส. ข้อมูลที่ได้รับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้ จะนำไปสู่การสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆให้ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนได้เห็นพิษภัยของบุหรี่ฟ้าเพื่อปกป้องสังคมจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าได้