กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดสุดยิ่งใหญ่แข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 คัดเยาวชนทั่วประเทศสู่ทีมชาติ ร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ โดยกล่าวว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นภารกิจของกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
เพื่อเป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการแสดงความสามารถด้านทักษะฝีมือที่ได้ฝึกฝนอบรมในสาขาอาชีพต่างๆ และเป็นเวทีคัดเลือกเยาวชนเป็นทีมชาติไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 18-28 กรกฎาคม 2566 และการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 2566 และการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน 2567
สำหรับการแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2566 จำนวน 26 สาขา แบ่งเป็นแข่งขันที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ จำนวน 18 สาขา เช่น สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม สาขาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม สาขาการจัดดอกไม้ สาขาแฟชั่นเทคโนโลยี เป็นต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดแข่งขันสาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จัดแข่งขันสาขาการประกอบอาหาร วิทยาลัยแรงงาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงาน 13 กรุงเทพมหานคร จัดแข่งขันสาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม และมหาวิทยาศรีปทุมจัดแข่งขันสาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ โดยมีเยาวนอายุระหว่าง 15-21 ปี เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 390 คนจากทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติ
นายสุรชัย กล่าวต่อไปว่า ซึ่งแบบข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ได้ประยุกต์จากการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติครั้งล่าสุด ได้รับการพัฒนาจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ยึดหลักสำคัญเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills International) นอกจากนี้นำวิธีการตรวจประเมินผลการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (Competition Information System : CIS) มาใช้ในการแข่งขัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการตัดสินของคณะกรรมการให้มีความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น จึงเป็นการันตีว่าเยาวชนะที่ชนะการแข่งขันมีศักยภาพและทักษะที่พร้อมแข่งขันในเวทีระดับโลกต่อไป
“การแข่งขันมิได้เป็นเพียงเวทีคัดเลือกเยาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระตุ้นให้เยาวชนมีใจรักในงานอาชีพ และสนใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสร้างความก้าวหน้าในการศึกษาและหน้าที่การงาน และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนอื่นๆ ในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้ทัดเทียมหรือก้าวสู่ทีมชาติเช่นเดียวกัน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าว