จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดงานเทศกาลประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้าน ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่ อลังการ หนึ่งเดียวในโลก มีการจัดริ้วขวนแห่และขบวนนางรำระยะทาง 3 กม. แสดงอัตลักษณ์วิถีชุมชนชาวผู้ไท ขณะที่ชาวตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จัดขบวนแห่บั้งไฟพื้นบ้าน แบบเรียบง่าย พอเพียง เตรียมจุดบูชาพญาแถน สืบสานประเพณีขอฝน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ทุกตำบล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวผู้ไท ต่างตื่นตัวที่จะเดินทางไปร่วมเปิดงานและร่วมชมขบวนแห่บั้งไฟตะไลล้าน ที่ทาง จ.กาฬสินธุ์ร่วมกับเทศบาลตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ และหลายภาคส่วน ได้ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ โดยเป็นการจุดบั้งไฟตะไลล้านแห่งเดียวในโลกตามที่ทราบกันดี โดยเฉพาะปีนี้ที่มีบั้งไฟตะไล 10 ล้าน และ 20 ล้านจุดโชว์ จึงพบว่าประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้ความสนใจที่จะมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น
ทั้งนี้ การเปิดงานเทศกาลประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้านเทศบาลตำบลกุดหว้า จัดขึ้นที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน มี ผศ.จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายวีรดนย์ ศิริ นายอำเภอกุฉินารายณ์ นายแสวง อุทรักษ์ นายกเทศบาลตำบลกุดหว้า พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว เยาวชน ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่างานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีไทย จ.กาฬสินธุ์ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานราชการ และประชาชนในพื้นที่ ด้านอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น โดยในปีนี้มีการจัดริ้วขบวนนางรำ และแสดงอัตลักษณ์วิถีชุมชนชาวผู้ไท ของชาวชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกุดหว้าทั้ง 6 ชุมชน ระยะทางยาวกว่า 3 กม. อย่างยิ่งใหญ่ อลังการ
ด้านนายแสวง อุทรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดหว้า กล่าวว่า เทศบาลตำบลกุดหว้า ร่วมกับ จ.กาฬสินธุ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านขึ้นในวันที่ 20-21 พ.ค.66 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ตามฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับการบูชาพญาแถน สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งฝน ก่อนที่จะลงมือทำการเกษตร โดยไฮไลต์อยู่ที่การจุดบั้งไฟตะไลแสน ตะไล 2 ล้าน ตะไล 10 ล้าน และตะไล 20 ล้าน
สำหรับบั้งไฟตะไลล้านของชาว ต.กุดหว้านั้น ประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวผู้ไทกุดหว้า ที่สืบสานมาหลายชั่วอายุคน โดยมีการพัฒนารูปแบบและน้ำหนัก มาประมาณกว่า 30 ปี โดยเริ่มจากตะไลหมื่น ตะไลแสน และตะไลล้าน ความโดดเด่นของบั้งไฟชาว ต.กุดหว้า จะแตกต่างจากพื้นที่อื่นของภาคอีสาน เพราะโดยปกติบั้งไฟจะทำเป็นรูปทรงกระบอก จุดชนวนดินปืนตรงส่วนท้ายเพื่อให้บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่บั้งไฟ หรือตะไลที่นี่จะเป็นทรงวงกลมคล้ายล้อเกวียน ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าให้แบน ซึ่งมีหน้าที่บังคับบั้งไฟ จุดชนวนจากกลางลำ โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนขึ้นท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว
อย่างไรตาม ในวันเปิดงานเทศกาลประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้านเทศบาลตำบลกุดหว้า ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ตามโครงการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว จ.กาฬสินธุ์ อีกด้วย
ขณะที่ อบต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ โดยมีนางสุภาพร เกียรติดำเนินงาม เลขานุการนายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายการ คาระวาศ นายก อบต.สำราญ นายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน รองประธานสภา อบต.สำราญ พร้อมด้วยนายอำเภอสามชัย ส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน เยาวชน นักท่องเที่ยว ร่วมงาน บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก สนุกสนาน
นายกอบโชคชีพ โพธิ์สอน รองประธานสภา อบต.สำราญกล่าวว่า ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ของชาว ต.สำราญปีนี้ ได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งจากนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ ที่เดินทางมาเป็นประธานพร้อมมอบทุนสนับสนุนการจัดงาน รวมทั้งยังได้ร่วมฟ้อนรำกับกลุ่มสตรี แม่บ้าน เยาวชน ซึ่งเป็นการรำบวงสรวงพญาแถน สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งฝน เพื่อดลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อที่จะได้มีน้ำสำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ขณะที่การจัดทำบั้งไฟในขบวนแห่ก็เน้นความเรียบง่าย แบบประหยัดและพอเพียง ทั้งนี้ เพื่อการมีส่วนร่วม และแสดงออกถึงความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ในการร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสานให้คงอยู่สืบไป