สระบุรี/ ย้ายโรงเรียนนายเรืออากาศฯจากดอนเมืองสู่มวกเหล็ก พิธีอัญเชิญพระพุทธมหากรุณานภาพลพิทักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าประดิษฐาน ณ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช (มวกเหล็ก)
วันที่19 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลา 08.09 น.พลอากาศเอก มาโนช สุตวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ/หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำงานเตรียมการย้าย รร.นนก. พร้อมด้วยพลอากาศโท วชิรศักดิ์ พูสิทธิ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นประธานในการประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธมหากรุณานภาพลพิทักษ จากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ณ ที่ตั้งดอนเมือง ย้ายไปประดิษฐาน ณ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อให้เกิดสิริมงคลแคล้วคลาดปลอดภัย เป็นที่เคารพสักการะบูชา ของข้าราชการ นักเรียนนายเรืออากาศ และประชาชนผู้พบเห็น สืบต่อไป
ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชนำคณะผู้บังคับบัญชา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ข้าราชการและนักเรียนนายเรืออากาศทั้ง 5 ชั้นปี เชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาครั้งแรก ณ ลานสถาบันโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี “พระพุทธมหากรุณานภาพลพิทักษ์”เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เริ่มต้นจาก พลอากาศเอก อมร แนวมาลีอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ มีดำริว่าจะสร้างศูนย์รวมจิตใจให้นักเรียนนายเรืออากาศได้มีความรักความสามัคคีและเป็นที่สักการะ ของข้าราชการ โดยได้ดำริก่อสร้างหอพระตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2540 มีพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2540 ณ บริเวณพื้นที่หน้าโรงเรียนนายเรืออากาศ ด้านทิศใต้ ประกอบพิธี เททอง ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2540 เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายและฐานขาสิงห์ มีผ้าทิพย์ปั้นลายตราโรงเรียนนายเรืออากาศ เหนืออักษรคาถาว่า ” อากาเส ยันติอิทธิยา” หล่อด้วยโลหะสำริดลงรักปิดทองคำเปลว 100 เปอร์เซ็นต์ และวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2540 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเมตตาลงอักขระพระคาถาอธิษฐานจิตบนแผ่นทองคำ พร้อมทรงประทานพระนามว่า”พระพุทธมหากรุณานภาพลพิทักษ์”นามอันมงคลนั้นจะคุ้มครองให้ผู้ที่เคารพบูชาแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทางอากาศ
โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ได้ย้ายที่ตั้งแห่งใหม่ จากถนนพหลโยธิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ ไปยังอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยได้มีนักเรียนนายเรืออากาศ ชั้น 2, 3 และ 4 ย้ายไปประจำการที่นั่น พร้อมกับพิธีอัญเชิญย้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน และเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาครั้งแรก หลังได้มีพิธีกราบลาผู้บัญชาการทหารอากาศ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และนักเรียนนายเรืออากาศ ชั้น 1 และ 5 ย้ายไป โดยในวันที่ 24 พ.ค. จะมีพิธีอัญเชิญธงชัยเฉลิมพลเข้าสู่ ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ จากนั้นวันที่ 26 พ.ค. จะมีกิจกรรม Open House ร่วมกับหน่วยมิตรประชา กองทัพอากาศ และวันที่ 29 พ.ค. เปิดการศึกษา ณ มวกเหล็ก เป็นวันแรก
สำหรับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นสถานศึกษาผลิตนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพอากาศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 โดยใช้สถานที่ตึกเหลืองในเขตกองบินน้อยที่ 6 หรือกองบิน 6 ดอนเมืองในปัจจุบัน เป็นโรงเรียนนายเรืออากาศ จากนั้นก่อสร้างอาคารใหม่ทั้งหมดบริเวณนิคมกองทัพอากาศ ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกองทัพอากาศ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2496 โดยกำหนดให้วันที่ 7 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศ ต่อมาได้มีการก่อสร้างโรงเรียนนายเรืออากาศ ในพื้นที่ทางเหนือของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช บนพื้นที่ 250 ไร่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2502 แต่ด้วยสถานที่คับแคบ มีชุมชนเมืองและการจราจรติดขัด ส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้ในปี 2554 พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทอ. ได้อนุมัติแผนย้ายโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชแห่งใหม่ บนพื้นที่เกือบ 900 ไร่ ที่เขามะกอก ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เริ่มก่อสร้างในปี 2556 โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2556 ความพิเศษของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชแห่งใหม่ก็คือ มีสนามบินเป็นของตัวเอง รองรับเครื่องบินฝึกแบบ CT-4 ใช้งบประมาณรวมกว่า 5,000 ล้านบาท
สำหรับโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชแห่งใหม่ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2224 (มวกเหล็ก–ซับน้อยเหนือ) ห่างจากถนนมิตรภาพไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอำเภอมวกเหล็ก 3.5 กิโลเมตร ใกล้สถานีรถไฟมวกเหล็กใหม่ (โครงการรถไฟทางคู่ มาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย) ส่วนสถานที่ตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ดอนเมือง กองทัพอากาศมีแผนที่จะปรับให้เป็นอุทยานการบิน เนื่องจากใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ และจะใช้เป็น Network Centric Warfare Operation Center ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการเชื่อมโยงระหว่างสถานีเรดาร์และระบบป้องกันภัยทางอากาศทั่วประเทศของกองทัพอากาศกับเครื่องบินรบ
/ดำรงค์ ชื่นจินดา รายงาน