ขอนแก่น – “ส.ร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล”จับมือ “มข.” ติดเขี้ยวเล็บ ร้านค้าปลีก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล พัฒนาทักษะความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้าที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างศักยภาพของร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความมั่นคง ก้าวหน้าและมีความยั่งยืนในอนาคต

 


วันนี้ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องวังเลิศ ชั้น 1 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)น.ส.ธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU)ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล ในโครงการพัฒนายกระดับร้นค้าปลีกชุมชนด้วยระบบดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยมี รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และสมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล โดยนายสุเทพ พลพฤภษณ นายกสมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล นายจารุวัฒน์ โพธิ์ศรีเจริญกุล อุปนายกสมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ โดยมีนายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น นายวุฒิไกร สุวรรณวานิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น คณะผู้บริหาร ทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน และสื่อมวลชน ที่สนใจการบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ร่วมทำข่าวในงาน


มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล ได้เห็นชอบร่วมกันพัฒนาหลักสูตรตามกระบวนทัศน์ใหม่ พัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนและการวิจัยร่วมกัน และสนับสนุนการดําเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ร่วมกัน
สําหรับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล เป็นหน่วยงานที่ทําหน้าที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม และร้านค้าปลีกระดับชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมปัญหาอุปสรรคในการประกอบการร้านค้าและทําหน้าที่


ประสานงานกับองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ หรือหน่วยธุรกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือสมาชิก เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจโดยการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ได้อย่างราบรื่นและมีความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งทําหน้าที่ในการพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาทักษะความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้าที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างศักยภาพของร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความมั่นคง ก้าวหน้าและมีความยั่งยืนในอนาคต
น.ส.ธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างมาก ที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในการเป็นประธาน และกล่าวเปิดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล ยกระดับร้านค้าปลีกชุมชนด้วยระบบดิจิทัลอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้


น.ส.ธนียา กล่าวด้วยว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ทั้งในส่วนของขนาดพื้นที่ประชากร และศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมและผลักดันให้วิสาหกิจและธุรกิจของชุมชนเติบโตและเข้มแข็ง ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงานจากภาครัฐ โดยเฉพาะด้วยการมีบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมทั้งกับทางสถาบันการศึกษา
น.ส.ธนียา กล่าวอีกว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการผลักดันให้ร้านค้าปลีกชุมชนสามารถแข่งข้นในธุรกิจได้ และพัฒนายกระดับให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และยังส่งผลต่อการหมุนเวียนทางเศษฐกิจในชุมชน ในจังหวัดขอนแก่น และภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ


ด้าน รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก โดยกำหนดวิสัยทัศน์ ในการเป็น “สถาบันการศึกษาชั้นนำและเป็นเลิศด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี ที่ได้มาตรฐานสากล” ภายใต้พันธกิจที่กำหนดไว้คือ1.สร้างและพัฒนานักบริหารธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถในการแข่งขันทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต 2.สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ 3.บริการวิชาการแก่สังคมอย่างมีคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ


ได้มีความมุ่งมั่นดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในด้านการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) โดยการพัฒนาหลักสูตรและการส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่รวมถึงการพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็น เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของสังคมและตลาดแรงงาน และนอกจากนี้แล้วคณะ ฯ ยังได้ได้มีการลงนามความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานสถานประกอบการต่าง ๆ และสำหรับวันนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากสมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล โดยสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1.ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมและร้านค้าปลีกระดับชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมปัญหาอุปสรรคในการประกอบการร้านค้าและทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ หรือหน่วยธุรกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือสมาชิก 2.เพื่อให้สมาชิกสามารถประกอบธุรกิจโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างราบรื่น และมีความเจริญก้าวหน้า 3.พัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาทักษะความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้าที่มีประสิทธิภาพ4. เสริมสร้างศักยภาพของร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความมั่นคงก้าวหน้าและมีความยั่งยืนในอนาคตจากการร่วมพูดคุยหารือระหว่างผู้บริหารของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และผู้บริหาร


รศ.ดร.เพ็ญศรี กล่าวอีกว่า จากหน่วยงานทั้งสอง พบว่ามีแนวคิดที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี จึงได้ข้อสรุปที่น่ายินดีและนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ และนับจากวันนี้เป็นต้นไป ก็จะมีการดำเนินงานโครงการพัฒนายกระดับร้านค้าปลีกชุมชนด้วยระบบดิจิทัลอย่างยั่งยืนโดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร ดังนี้ 1.หลักสูตรการอบรมนักศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านการพัฒนาร้านค้าและการใช้ระบบงานแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาร้านค้าปลีกชุมชน ระยะเวลาดำเนินการ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ประโยชน์ที่ได้รับ คือ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้เชิงปฏิบัติการทางด้านการจัดการและบริหารธุรกิจร้านค้าเพื่อไปต่อยอดในอนาคต อีกทั้งได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและระบบงานที่ใช้ในการบริหารร้านค้าปลีก 2.หลักสูตรการอบรมร้านค้าปลีกชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาที่
ได้รับการคัดเลือกนำความรู้ด้านการพัฒนาร้านค้าและการใช้ระบบงานไปถ่ายทอดและพัฒนาร้านค้าปลีกชุมชน ระยะเวลาดำเนินการ ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ประโยชน์ที่ได้รับคือ ร้านค้าได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติการในด้านการบริหารร้านค้า การเงิน และระบบงาน POS ที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และร้านค้าที่ผ่านการอบรมจะได้รับ Certificate เพื่อรับรองผ่านการพัฒนาร้าค้าจากโครงการ และปลอดภัยเรื่องการเสียภาษีที่ถูกต้อง.

Related posts