กฟผ.แม่เมาะ โดยโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ร่วมกับ STeP มช. นำ 8 เกษตรกรลำปาง จากโครงการ Smart Farmer โชว์สินค้าต้นแบบออกสู่ตลาดฟังเสียงผู้บริโภคจริง พร้อมดันผลผลิตเกษตรกร จ.ลำปาง สู่ตลาดระดับประเทศ
วันนี้ 12 พฤษภาคม 2566 นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ต้นแบบสู่ตลาดทดลองจำหน่ายและกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ ในงาน Lampang Smart Farmer Showcase 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2566 โดยมี ผศ.ดร.สุริยะ ทองมุณี รองผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP CMU) ผู้บริหารหอการค้า จ.ลำปาง ผู้บริหารอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะและพัฒนาทักษะเทคโนโลยีเชิงธุรกิจสู่การสร้างเกษตรกรอัจฉริยะ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานลำปางหนา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง
นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กฟผ.แม่เมาะ กล่าวว่า กิจกรรมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ต้นแบบสู่ตลาดทดลองจำหน่ายและกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ กฟผ. ตั้งใจผลักดันให้จังหวัดลำปาง ก้าวเข้าสู่การเป็นลำปางสมาร์ตซิตี้ (Lampang Smart City) ซึ่งสอดรับกับแนวคิดการพัฒนาประเทศไทยสู่สมาร์ตซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล ที่มุ่งกระจายความเจริญสู่พื้นที่ภูมิภาค ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาให้เมืองน่าอยู่ ทันสมัย มีเศรษฐกิจที่เติบโต ประชาชนดำเนินชีวิตอยู่ในเมืองของตนเองได้อย่างมีสุขภาวะและยั่งยืน ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในจังหวัดในการออกแบบและพัฒนาเมือง เพื่อนำพาจังหวัดลำปางไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยกัน
ทั้งนี้ กิจกรรมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ต้นแบบสู่ตลาดทดลองจำหน่ายและกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจเป็นหนึ่งกิจกรรมในโครงการบ่มเพาะและพัฒนาทักษะเทคโนโลยีเชิงธุรกิจสู่การสร้างเกษตรกรอัจฉริยะ (Technology and Business Incubation for Smart Farmer) มีระยะการดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนมิถุนายน 2566 โดยรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรในจังหวัดลำปางที่มีความสนใจพัฒนาทักษะด้านธุรกิจและนวัตกรรมการเกษตร เข้ารับการอบรมและรับคำแนะนำจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจและเกษตรกรรมยุคใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการสำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพในการประกอบธุรกิจและการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดลำปางด้วยแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิด
ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการทำเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ จ.ลำปาง ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.ลำปาง และ อ.แม่เมาะ พัฒนาจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ผ่านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การจัดการน้ำ ดิน ความชื้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดจนการพัฒนาโมเดลธุรกิจ รูปแบบการสร้างรายได้ และการพัฒนาระบบตลาดและเครือข่ายจัดจำหน่าย นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูงสามารถแข่งขันในตลาดได้
ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน