(สุรินทร์)กองกำลังสุรนารี ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทหารกล้าชายแดน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ที่ หน้ากองบัญชาการกองกำลังสุรนารี ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กองกำลังสุรนารี ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทหารกล้าชายแดน มี พระพรหมวชิโสภณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มี พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบ พิธีเททองหล่อพระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน (องค์จำลอง) พร้อมด้วย พลเอก กิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพบก พลโท สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 พลเอกสมชาย เพ็งกรูด
โดยมี พลตรี วีระยุทธ รักศิลป์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้จัดสร้างพระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน เพื่อมอบให้หน่วยต่างๆ ของกองพลทหารราบที่ 6 และ กองกำลังสุรนารี เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่งคงตามแนวชายแดน โดยมีข้าราชการ หน่วยงานทหาร ตำรวจ ในพื้นที่และพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมพิธีเททองหล่อพระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน (องค์จำลอง) เป็นจำนวนมาก ในการประกอบพิธี ได้มีพิธีบวงสรวงเทพยดาบูชาฤกษ์ พราหมณ์พิธี ร่ายโองการอัญเชิญ, โองการสรรเสริญ, โองการเทพชุมนุมพิธีเททองหล่อพระพุทธนักรบกล้าอีสาน พระคณาจารย์ 4 รูป
นั่งบนธรรมาสน์ ประจำจตุรทิศ พระสงฆ์ 9 รูป ประธานสงฆ์ เจิม จุดเทียนชัย ประธานสงฆ์ และ ประธาน พร้อมคณะ ขึ้นแท่นเททอง จับด้ามกระบวย ผู้ร่วมพิธีจับสายสิญจน์ (พราหมณ์พิธี อัญเชิญพานชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ลงในกระบวย) ประธาน เทชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ ลงในเบ้าหลอม พระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา โปรยข้าวตอกดอกไม้ ที่หุ่นเบ้าหล่อ ประธานสงฆ์ ดับเทียนชัย ซึ่งความเป็นมาของการจัดสร้าง พระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน ในอดีตเมื่อปี 2529-2530 ที่ไทยถูกคุกคามด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมและไทยเป็นเป้าหมายต่อไปตามทฤษฎี โดย ในพื้นที่ช่องบกจึงเป็นสมรภูมิรบสำคัญ เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามได้ใช้กำลังเข้ายึดครองเนิน 500 ซึ่งถือว่าเป็นภูมิเทศสำคัญเพื่อเตรียมรุกเข้ายึดครองประเทศไทยต่อไป ทหารไทยได้เสียสละเลือดเนื้อ และชีวิตจำนวนนับร้อยคนเข้าตีเพื่อช่วงชิงพื้นที่ที่เป็นอธิปไตยของไทยกลับมา
ภายใต้การบัญชาการรบของ พลโท อิสระพงศ์ หนุนภักดี แม่ทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้น และเมื่อสิ้นสุดการรบ ทหารในพื้นที่ จึงพร้อมใจกันสร้าง “ศาลาอิสระภักดี” เป็นอนุสรณ์เพื่อประดิษฐาน พระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน ให้เหล่านักรบ และประชาชนในพื้นที่สักการะบูชา เป็นที่เคารพบูชา รวมถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่ สมรภูมิช่องบก – เนิน 500 จังหวัดอุบลราชธานี ในคราวนั้นได้มีการจำลอง”พระพุทธรักษานักรบกล้าอีสาน” ขึ้นมาขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว และ 7 นิ้ว ตามลำดับ มอบให้เหล่าทหาร เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในคราวนั้น
ปุรุศักดิ์ แสนกล้า ข่าว/ภาพ