กาฬสินธุ์- รับสมัคร ส.อบจ.แทนตำแหน่งว่างเหตุตบเท้าลาออกสมัครส.ส.
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กาฬสินธุ์ ตบเท้าลาออกสมัคร ส.ส. 3 เขต ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาฬสินธุ์ เปิดรับสมัคร ส.อบจ.แทนตำแหน่งที่ว่าง บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา 2 วันแรกมีผู้มาสมัครเพียง 2 คน
วันที่ 18 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาฬสินธุ์ สถานที่รับสมัครสมาชิก ส.อบจ.กาฬสินธุ์ พบว่าบรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ทั้งนี้เป็นการรับสมัครวันที่ 2 หลังจากที่เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ (อบจ.)
ประกอบด้วยนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์, พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ที่ปรึกษา ผวจ.กาฬสินธุ์, นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์, พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ และ พ.ต.อ.กีรติกร อมรพัฒน์ภาคิน รอง ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ ทิพย์โอสถ ผอ.กกต.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นางเพ็ญศรี แสงดารา ปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับสมัคร ได้ทำการเปิดรับสมัครแล้ว ปรากฏว่ามีผู้สมัคร ส.อบจ.เพียง 2 คนจาก 3 เขตเลือกตั้ง
นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่สมาชิกสภา อบจ.กาฬสินธุ์ 3 คน/เขต ประกอบด้วย ส.อบจ. อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้ง 1 มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 อำเภอยางตลาด เขตเลือกตั้งที่ 3 และอำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 3 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 โดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.กาฬสินธุ์ จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาอบจ.กาฬสินธุ์
“ทั้งนี้ ได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 และรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาอบจ.กาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 17-21 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. สถานที่รับสมัครที่ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำอบจ.กาฬสินธุ์ โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งและศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำอบจ.กาฬสินธุ์ มีความพร้อมในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกส.อบจ.กาฬสินธุ์ ทั้งในด้านบุคลากร ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ พร้อมในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งคณะกรรมการอนุอำเภอ และจะได้แต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ขณะที่ความพร้อมในด้านงบประมาณในการดำเนินการเลือกตั้ง ทางอบจ.กาฬสินธุ์ ก็ได้จัดตั้งไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลือกตั้งด้วย” นายธวัชชัยกล่าว
จากการสำรวจข้อมูลการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.กาฬสินธุ์ เลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง 3 เขตเลือกตั้ง ใน 3 อำเภอ โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปนับถึงวันเลือกตั้ง จำนวน 77,403 คน มีหน่วยเลือกตั้งจำนวน 149 หน่วย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.ครั้งนี้ จึงใช้บุคลากรในการดำเนินการเลือกตั้งในคณะกรรมการชุดต่างๆรวมทั้ง กปน. ด้วยรวม ทั้งสิ้น 1,269 คน จึงมั่นใจได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเป็นไปด้วยความ โปร่งใส บริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม
สำหรับสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมา 2 ครั้ง เลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 55.73 อย่างไรก็ตาม สำหรับการรับสมัคร ส.อบจ.แทนตำแหน่งที่ว่าง 3 เขต ในครั้งนี้ เนื่องจาก ส.อบจ.ได้ลาออกไปลงสมัคร ส.ส. ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ เขต 1 นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์, อ.ยางตลาด เขต 3 นายวรากรณ์ ภูอาภรณ์ และ อ.กุฉินารายณ์ เขต 3 นายสุรพงษ์ พลซื่อ ขณะที่บรรยากาศในการรับสมัครสมาชิกสภา อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยมีผู้มาสมัครวันแรก 2 คน คือ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เขต 1 และ อ.กุฉินารายณ์ เขต 3 ส่วน อ.ยางตลาด เขต 3 ยังไม่มีผู้มาสมัคร