เรตติ้งเทรนด์สวมใส่เสื้อภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ยังพุ่งสูง ผู้ประกอบการชี้เป็นผลพวงตั้งแต่มีการเปิดบ้านเปิดเมืองหลังผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มจากการจัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติที่อำเภอเขาวง และตอกย้ำความนิยมมากขึ้น เมื่อนำไปจำหน่ายในงานมหกรรมโปงลาง แพรวาและงานกาชาดที่ผ่านมา ขณะที่เสื้อผ้าภูไทโบราณเริ่มหายาก เนื่องจากต้องการเก็บไว้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้ลูกหลาน
วันที่ 23 มีนคาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจตลาดผ้าทอมือและเสื้อผ้าแปรรูป ในกลุ่มผ้าฝ้าย ผ้าไหม ย้อมสีธรรมชาติ และปักมือด้วยภูมิปัญญา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของชาวผู้ไท และผู้ประกอบการหลายกลุ่มในเขต อ.ห้วยผึ้ง อ.นาคู และ อ.เขาวง ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ อ.ห้วยผึ้ง, อ.นาคู และ อ.เขาวง พบว่าความนิยมสวมใส่เสื้อผ้าภูไท เพิ่มความนิยมอย่างแพร่หลายทุกช่วงวัยและทุกองค์กร
นางสนิท ไชยสุข ประธานกลุ่มสตรีเย็บด้วยจักรปักด้วยมือ บ้านคำบง ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กระแสความนิยมผ้าไทย ในส่วนของผ้าฝ้าย และผ้าไหม อัตลักษณ์ของกลุ่มเรานับวันจะดีวันดีคืน มีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดระยะ เพราะจำหน่ายราคาไม่สูงเลย เพียงตัวละ 900-2,500 บาท โดยสมาชิกกลุ่มเราประมาณ 40 คน พยายามเร่งผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเสื้อตัวหนึ่งใช้เวลาปักลาย 3-5 วัน เพราะต้องพิถีพิถัน เน้นคุณภาพ เป็นงานประณีต
อย่างไรก็ตาม จากการจัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ ที่ อ.เขาวง เมื่อต้นเดือน ก.พ.66 ถือเป็นการเปิดตลาดเสื้อผ้าภูไทให้กว้างยิ่งขึ้น จำหน่ายจนหมดสต๊อกทีเดียว นอกจากนี้จากการจัดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด จ.กาฬสินธุ์ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อปลายเดือน ก.พ.66 จากการสำรวจยอดขายของกลุ่มผ้าไทยและเสื้อผ้าภูไท พบว่ามีจำหน่ายที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ทีเดียว
ด้านนายภานุวัฒน์ จันทร์เพ็ญ นักพัฒนาชุมชน ทต.คำบง กล่าวว่า เดิมทางกลุ่มสตรีเย็บด้วยจักรปักด้วยมือ ได้เปิดเพจแนะนำผลิตภัณฑ์และเป็นอีกช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าจากทั่วประเทศส่งออเดอร์มาตลอด ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทาง ทต.คำบง มีโครงการที่จะจัดสร้างศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าภูไทให้เป็นมาตรฐาน เพื่อเป็นจุดเช็คอินให้กับผู้ที่ชื่นชอบเสื้อผ้าภูไท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดเย็บด้วยจักรปักด้วยมือกลุ่มนี้ ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ประณีต สวยงาม ด้วยลายไผ่บง และลายธรรมชาติต่างๆ ซึ่งมีรูปลายและสีสันงดงาม ไม่ซ้ำแบบใคร
ขณะที่นางทองบาง ไชยสินธุ์ อายุ 75 ปี บ้านเลขที่ 9 หมู่ 4 บ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมชุดผู้ไทหรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ ได้จากการผลิตเองกับมือ ที่สืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่ง ทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกฝ้าย เข็นฝ้าย กรอไหม ทอมือ จนถึงตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ ในยุคหลังๆ อาจจะมีฝ้ายหรือไหมสังเคราะห์ปะปน และเสื้อผ้าจากโรงงาน คนยุคใหม่ไม่ค่อยสวมใส่เสื้อผ้าภูไท ยกเว้นงานบุญประเพณีหรือในโอกาสวันสำคัญ ทั้งนี้ ในส่วนของผืนผ้าและเสื้อภูไท ที่เก็บรักษามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายนั้น ในชุมชนเรายังเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเคยมีคนมาติดต่อขอซื้อไป ที่พอจะมีเหลืออยู่ก็หวงแหนไว้ เก็บรักษาไว้ก็เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานชื่นชม และระลึกถึงบรรพบุรุษชาวภูไทเรา
นางสุข ศรีเครือ อายุ 80 ปี บ้านเลขที่ 76 หมู่ 7 บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง กล่าวว่า ชุมชนเราเป็นชาวผู้ไทกว่า 90% พบว่าในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ยังนิยมนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อภูไท หรือยังยึดติดกับการแต่งกายแบบภูไทดั้งเดิมเหนียวแน่น โดยส่วนตัวยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบชาวภูไท เพราะรู้สึกคล่องตัว สบายตัว และภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์การแต่งกายแบบชาวภูไทโบราณ เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม จากการที่ส่วนราชการจัดงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีชาวผู้ไท พร้อมเชิญชวนแต่งกายแบบชาวภูไทร่วมกิจกรรมในงาน ถือเป็นเรื่องที่ดี มีส่วนเรียกกระแสความนิยมแต่งกายแบบภูไทโบราณกลับมาได้เป็นอย่างดี ภาพที่เห็นในปัจจุบันพบว่าลูกหลาน เยาวชนรุ่นใหม่ รวมทั้งบุคลากรหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสถานบันการศึกษา ชุมชนตื่นตัวกลับมาแต่งกายภูไทมากขึ้น เหมือนเป็นบรรยากาศการแต่งกายแบบดั้งเดิมที่ย้อนเวลากลับมา เห็นแล้วรู้สึกชื่นใจมาก