ปทุมธานีเกษตรกรปลื้มให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ถ่ายทอดความรู้เพิ่มประสิทธิภาพสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่วัดบัวทอง ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไตรมาสที่ 2 โดยมี นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอสามโคก นางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี นางธนินท์พรรณ ภววัฒนานุสรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรเข้าร่วมงานรวมถึงเข้ารับบริการคลินิกเกษตร ประมาณ 500 คน
โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จัดขึ้นเพื่อให้บริการ และช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ทันเหตุการณ์ และสอดคล้องกับความต้องการ ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ให้บริการทางด้านการเกษตร ได้แก่
การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตร และสามารถให้บริการเกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ โดยภายในงานมีการให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนประกอบไปด้วย การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตร การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอสามโคก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปทุม ส่วนราชการต่างๆ ของอำเภอสามโคก
ส่วนราชการในจังหวัดปทุมธานี ภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอสามโคก สำหรับอำเภอสามโคก เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร โดยมีพื้นที่การเกษตร 29,282 ไร่ เกษตรกรจำนวน 2,283 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เพาะปลูกข้าว เป็นหลัก จำนวนกว่า 23,311 ไร่ รองลงมาเป็นพืชผักและไม้ผล ไม้ยืนต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านการเกษตร การเพิ่มมูลค่าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว แปลงใหญ่ผักกาดหอม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มยุวเกษตรกร ทั้งนี้ ยังมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรและเครือข่าย จำนวน 16 ศูนย์ เพื่อให้บริการด้านความรู้และเทคโนโลยีทางการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้สนใจ
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. สำนักงานเกษตรจังหวัด ให้บริการเรื่อง รณรงค์หยุดเผาตอซัง เกษตรในเมือง (การปลูกผักยกแคร่และการปลูกผักในภาชนะ) 2. สถานีพัฒนาที่ดินปทุมธานี เรื่อง ให้บริการ E-service และ การปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมทั้งสนับสนุนปุ๋ยหมัก-น้ำหมักชีวภาพ 3. สำนักงานปฏิรูปที่ดิน เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูปที่ดิน 4. สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่อง คลินิกตรวจบัญชี 5. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี เรื่อง การใช้สารเคมี 6. สำนักงานประมงจังหวัด เรื่อง รับบริการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ การตรวจคุณภาพน้ำ การควบคุมโรค 7. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เรื่อง การตรวจวิเคราะห์วินิจฉัยโรคสัตว์ 8. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง 9. สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เรื่อง การจัดตั้ง คลินิกสหกรณ์ 10. ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ให้บริการด้านการผลิตข้าวครบวงจร
11. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริการด้านการเงิน 12. สำนักงานชลประทานจังหวัด ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ 13. สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ให้คำแนะนำประชาสัมพันธ์บทบาทของหน่วยงาน 14. สำนักงานคลังจังหวัดปทุมธานี ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ 15. กลุ่มแปลงใหญ่ และศพก. ออกร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย และ 16. สินค้าวิสาหกิจชุมชน และสินค้า OTOP ของจังหวัดปทุมธานี จากการดำเนินงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการเกษตรต่างๆ จากนักวิชาการเกษตรได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทั่วถึง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันเวลา ซึ่งเกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ถูกต้องไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและเกิดความยั่งยืนต่อไป
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน