ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยหลอกลงทุน Forex หลังพบผู้เสียหายทยอยแจ้งความหลายราย ความเสียหายหลายสิบล้านบาท
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอฝากประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีการหลอกลวงลงทุนในตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex) สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนี้
ที่ผ่านมา พงส. บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายราย ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ว่าถูกผู้ต้องหาชักชวนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หลอกลวงให้ฝากเงินลงทุนในตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex) ในระบบฝากเทรดของ Xpower Team ซึ่งอ้างว่าเป็นระบบฝากเทรดประกันเงินทุน จะได้รับผลกำไรมากถึง 20-35% ของเงินฝากต่อเดือน มีโปรโมชันลงทุนเพื่อรับของสมนาคุณต่างๆ โดยเมื่อลงทุนตั้งแต่ 3,000 – 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับนาฬิกา ไอแพด หรือสิ่งของอื่นๆ ตามจำนวนเงินลงทุน มีการทำสัญญาการลงทุนในระยะเวลาต่างๆ ทั้งนี้ผู้ต้องหาอ้างว่าตนเป็นเจ้าของกิจการโรมแรม มีธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ รวมถึงเป็นผู้มีความชำนาญในด้านการลงทุน ที่ผ่านมาพบมีการโพสต์รูปภาพใช้ชีวิตหรูหรา โพสต์รูปทรัพย์สินหลายรายการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ กระทั่งผู้ต้องหาไม่สามารถจ่ายเงินปันผล หรือกำไรให้ผู้เสียหายได้ อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบ มีปัญหาเรื่องภาษี และไม่สามารถแสดงบัญชีการลงทุนให้ผู้เสียหายตรวจสอบได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากการถูกชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมามีการดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า กรณีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาพบการหลอกลวงมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งมักมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และมีความเสียหายสูง วิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราวไปตามกระแสความสนใจของสังคมในปัจจุบัน โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่าในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการเงินในประเทศไทยที่รับรองการลงทุนประเภทดังกล่าว ผู้ที่สนใจลงทุนต้องสมัครสมาชิก และเปิดบัญชีเทรดกับโบรกเกอร์ในต่างประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังนี้
1.ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนในลักษณะดังกล่าว มักเป็นการหลอกลวงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน โดยพิจารณาถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
2.มิจฉาชีพมักหลอกลวงเหยื่อด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เช่น โพสต์ภาพการใช้ชีวิตหรูหรา หรือภาพร่วมกับยานพาหนะ ที่พัก หรือของแบรนด์เนมต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง
3.ในระยะแรกที่เหยื่อลงทุนด้วยเงินจำนวนที่ไม่มากจะได้รับผลตอบแทนกลับมาจริง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้เพิ่มการลงทุน แต่ต่อมาก็จะไม่ได้รับผลตอบแทน อ้างเหตุผลต่างๆ
4.อย่าหลงเชื่อการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว
5.หลีกเลี่ยงการโอนเงินให้ผู้อื่นซื้อขายหรือลงทุนแทน ควรลงทุนด้วยตนเอง
6.ตรวจสอบชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องจากเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป เช่น Google, Chaladohn.com (ฉลาดโอน) ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่
7.การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)
8.ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ จะต้องทำกับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือ นิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อการลงทุนแต่อย่างใด
9.หากได้รับความเสียหายในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป