ชาวบ้านดงสวาง ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ สองหมู่บ้านร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด แห่กัณฑ์หลอน ฟังเทศน์มหาชาติ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำนุบำรุงศาสนสถาน ตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ของชาวอีสาน เพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมอธิษฐานขอพรให้หมู่บ้านและครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข
ที่วัดดงสวางใต้ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พระครูถิระปัญโญภาส เจ้าอาวาสวัดดงสวางใน เจ้าคณะตำบลห้วยโพธิ์ พระสัญญา ญาณธีโร เจ้าอาวาสวัดดงใต้ นางลาวัลย์ เจริญพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านดงสวาง ม.5 นางวิจิตรา บุญรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านดงสวาง ม.14 พร้อมด้วยชาวบ้านดงสวางทั้ง 2 หมู่บ้าน และผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีบุญเดือนสี่ แห่กัณฑ์หลอน ถวายต้นเงิน ทำนุบำรุงศาสนสถาน และฟังเทศน์มหาชาติ กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่สืบสานประเพณีบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด ตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ที่ชาวบ้านได้ร่วมกับคณะสงฆ์ สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเป็นประจำทุกปี
โดยบรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยความอบอุ่น คึกคัก และสนุกสนาน เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้ทำบุญฟังเทศน์ภายในศาลาการเปรียญที่ประดับประดาด้วยธุง เรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือทศชาติชาดก เป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ผู้ซึ่งบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ด้วยการให้ทานหรือทานบารมีในชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวบ้านยังได้จับสลากกัณฑ์เทศน์เสี่ยงทาย และร่วมกันถวายบริจาคปัจจัย เพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมอธิษฐานขอพรให้หมู่บ้านและครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพเจริญก้าวหน้า การทำนาได้ผลผลิตดี ค้าขายร่ำรวย รวมทั้งยังแห่กัณฑ์หลอน ฟ้อนรำ ถือต้นดอกเงิน ที่ได้รวมกลุ่มกันเป็นคณะ ออกแผ่ปัจจัย แล้วรวบรวมเงินไปถวายวัด เพื่อทำนุบำรุงศาสนสถาน
นอกจากนี้ยังมีการตั้งโรงทานแจกจ่ายอาหาร ทั้งอาหารคาวหวานหลากหลายชนิด ทำให้ผู้มาร่วมงานอิ่มทั้งบุญและอิ่มทั้งท้องไปด้วย
นางลาวัลย์ เจริญพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านดงสวาง ม.5 กล่าวว่า สำหรับการแห่กัณฑ์หลอน และฟังเทศน์มหาชาติวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมประเพณีบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด ตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ของชาวอีสาน ซึ่งปีนี้บ้านดงสวางทั้ง 2 หมู่บ้าน และคณะสงฆ์พร้อมใจกันจัดขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวชาวบ้านดงสวางจัดขึ้นทุกปี เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ให้คงอยู่สืบต่อไปยังลูกหลาน และเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้กับประชาชนในหมู่บ้าน รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับหมู่บ้านใกล้เคียงให้มากขึ้น นอกจากยังนี้ยังเป็นการ ทำนุบำรุงศาสนาและศาสนสถานให้อยู่คู่กับชุมชนอีกด้วย