สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เตือนประชาชนระวังถูกสุนัขและแมวกัด-ข่วน ลดความเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า ย้ำหากถูกกัดให้รีบปฐมพยาบาล และไปพบแพทย์ทันที เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน เผยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดปี ล่าสุดแต่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังไม่พบผู้ป่วยและยังไม่มีผู้เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ได้เตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัด ระวังไม่ให้สุนัข และแมวกัดหรือข่วน เน้นย้ำให้ยึดมาตรการ 5 ย เพื่อลดความสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมแนะนำวิธีแต่หากถูกกัด และข่วน ให้รีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบาๆหลายๆครั้ง ไม่บีบเค้นบาดแผล เช็ดแผลให้แห้งใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดได้ทันที ไม่กระทบต่อการฉีดวัคซีนโควิดแต่อย่างใด ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ยังไม่พบผู้ป่วยและยังไม่มีผู้เสียชีวิต
นายแพทย์วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม พูดเพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อยๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้หากประชาชนถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วนให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว ถึงแม้ว่าแผลจะเล็กน้อยหรือจะเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด 19 มา หรือมีนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทันที ไม่ต้องรอทิ้งช่วงเวลา ประชาชนไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุด และตรงตามนัดจึงจะได้ผล การฉีดวัคซีนจะป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่หากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้ จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทจนแสดงอาการป่วย ยาหรือวัคซีนจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
โดยสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ได้ทำหนังสือขอให้พื้นที่ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน พร้อมทั้งเน้นย้ำในมาตรการการมารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบชุดในผู้สัมผัสเพื่อป้องกัน ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงของการพบโรคพิษสุนัขบ้า คือการถูกสัตว์กัด/ข่วน โดยไม่ได้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และสุนัขยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่เชื้อ ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว
นายแพทย์วิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาเป็นการเฉพาะ และถ้าติดเชื้อ จะเสียชีวิตทุกราย การป้องกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยควรปฏิบัติ ดังนี้ 1. เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำเลี้ยงสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2. ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพังโดยไม่ใส่สายจูง และ 3. ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดด้วยการ ยึดหลักคาถา 5 ย.
คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และ อย่ายุ่ง และขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการสุนัข แมวของตนเอง รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
***ภาพฉีดยา***ทำหมั่นแฟ้มภาพ***