สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอสามชัย และองค์การบริหารส่วนตำบลสำราญจัดงานวันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โชว์มะม่วงคุณภาพดีมาตรฐาน GAP ของอำเภอสามชัย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการส่งออกต่างประเทศปีละกว่า 23 ล้านบาท
วันที่ 3 มีนาคม 2566 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานวันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และของดีอำเภอสามชัย ซึ่งสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอสามชัย และ องค์การบริหารส่วนตำบลสำราญจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2566 ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานกาฬสินธุ์ กรีนมาร์เก็ต สู่เกษตรอินทรีย์
กิจกรรมหลักงานประชาสัมพันธ์ และการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของ จ.กาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ผศ.จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสาชัยเข้าร่วมงาน
โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร การแสดงนิทรรศการผลงานด้านการเกษตรกรของหน่วยงานราชการ การประกวดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพดี การแข่งขันการแพ็คและบรรจุมะม่วงลงบรรจุภัณฑ์ และการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตรจากเกษตรกร
นอกจากนี้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้มอบรางวัลการประกวดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพดี รางวัลชนะเลิศให้แก่ นายวริป ไกรโสดา เกษตรกร ม.6 ตำบลสำราญ รองชนะเลิศให้แก่ นายสวรรค์ โพระกัน เกษตรกร ม.9 ตำบลสำราญ และมอบรางวัลการแข่งขันการแพ็ค และบรรจุมะม่วงลงบรรจุภัณฑ์ รางวัลชนะเลิศให้แก่ นางสาวอุทุมพร ยาระวัย และนางสาววาสนา พันกุล รางวัลรองชนะเลิศให้แก่ นายอรุณ บุญถึกและนายคำพอง ทรัพย์ไสยอีกด้วย
ด้านนายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดงานวันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและของดีอำเภอสามชัยครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ และแสดงสินค้าด้านการเกษตรของอำเภอสามชัยและใกล้เคียงของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้อำเภอสามชัยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมด 3,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จำนวน 769 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2 ตัน/ไร่ ปลูกมากในพื้นที่ตำบลสำราญ เป็นมะม่วงคุณภาพดีมาตรฐาน GAP สามารถส่งออกขายต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ปีละกว่า 23 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างงานและสร้างอาชีพได้เป็นอย่างดี