ลำปาง-ไฟป่าระอุอีกครั้ง กว่าสิบอำเภอ ค่า PM2.5 พุ่งเกินมาตรฐาน
จากรายงานสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของจังหวัดลำปางเมื่อวันที่1 มีนาคม 2566 เวลา 01.44 น. ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS พบว่ามีความร้อนเกิดขึ้น จำนวน 148 จุด ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ของป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยในวันนี้พบการเกิดไฟป่ามากที่สุดในพื้นที่ของอำเภอเถิน 54 จุด อำเภอเมืองลำปาง 21 จุด อำเภอเสริมงาม 14 จุด อำเภอแม่พริก 12 จุด อำเภอสบปราบ 11 จุด อำเภอแม่เมาะ 10 จุด อำเภอห้างฉัตร 9 จุดอำเภองาว 8 จุด อำเภอแจ้ห่ม 5 จุด อำเภอแม่ทะ 3 จุด อำเภอเมืองปาน 1 จุด
ทางด้านนายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเมืองลำปาง วอนหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขปัญหาไฟป่าให้เร็วที่สุด เพราะในวันนี้ในพื้นที่ของอำเภอเมืองลำปางมีไฟป่ามากเป็นอันดับสองของจังหวัด โดยที่ผ่านมาได้กำชับ เน้นย้ำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่โดยรอบดอยพระบาทและแนวตะเข็บพื้นที่ป่าของหมู่บ้านให้เข้มงวดเกี่ยวกับไฟป่า โดยเฉพาะในที่โล่แจ้ง ซึ่งสามารถควบคุมไม่ให้เกิดไฟไหม้ได้ แต่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติกลับเกิดไฟป่ามากที่สุด ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยลาดตะเวนอยู่ตลอด
ทั้งนี้จากการติดตามสภาพอากาศพบว่ามีบริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและอัตราการระบายอากาศมีน้อย ลมสงบ สำหรับสภาพอากาศของจังหวัดลำปาง ตลอดทั้งวันของวันนี้ พบว่าทั่วบริเวณพื้นที่ท้องฟ้าสลัวเนื่องจากมีหมอก ควันปกคลุม ซึ่งจากการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในเขตพื้นที่จากเครื่องตรวจวัดอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งอยู่ในจังหวัด ลำปาง 4 แห่ง ทั้งในเขตอำเภอเมืองลำปาง และ อำเภอแม่เมาะ ได้มีรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีค่าสูงเกินค่า มาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกสถานี โดยคำสูงสุดวัดได้ที่ ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง 186 ไมโครกรัมต่อ ลูกบาศก์เมตร รองลงมาที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ 143ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ 110 ไมโครกรัมต่อ ลูกบาศก์เมตร และที่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ วัดได้ 128 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศเป็นสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพอากาศเป็นสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน