อยุธยา – จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพระขาว ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้แทนนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องเกษตรกร เข้าร่วมพิธีจำนวนกว่า 160 คน และมี ดร.รุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการฯ
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริเพื่อเป็นแสงสว่างนำทางตามรอยพระราชปณิธานไปสู่ความผาสุกแก่ประชาชนและประเทศชาติ โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกษตรกรจะได้รับบริการแบบครบวงจรในทุกๆ ด้าน ซึ่งเป็นการนำบุคลากรอุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้ ด้านการเกษตรมาให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกร ถึงในพื้นที่ พ่อแม่พี่น้องเกษตรกร ที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวท่านเอง โดยเข้ารับบริการหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนของข้าราชการเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมาปฏิบัติงานในครั้งนี้
สำหรับการจัดงานในวันนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนตำบลพระขาว และภาคีภาคเอกชนเพื่อให้บริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไข ปัญหาการผลิต ด้านการเกษตร ได้อย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึง และสอดคล้อง กับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งมีการบูรณาการ ความร่วมมือกัน ระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร ให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ที่มีปัญหาให้ได้รับบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ
รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตร กิจกรรมในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย การให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 23 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คลินิกแก้ปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย 1) คลินิกดิน 2) คลินิกพืชและการอารักขาพืช กลุ่มที่ 2 คลินิกด้านวิชาการเกษตร ประกอบด้วย คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกข้าว คลินิกเครื่องจักรกลทางการเกษตร คลินิกฝนหลวง กลุ่มที่ 3 คลินิกการให้บริการ ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านและวิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าราคาประหยัดการให้บริการพันธุ์พืชพันธุ์ดี พันธุ์ปลาน้ำจืด และปัจจัยการผลิตเกษตร สารชีวภัณฑ์ ทางการเกษตร ทั้งนี้ มีเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอบางบาล ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และผู้สนใจทั่วไป ผู้เข้ารับบริการคลินิกกว่า 160 คน
สุจินดา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา