“อลงกรณ์”นำทีมกระทรวงเกษตรผนึกทีมเพชรบุรีโมเดลขับเคลื่อนโครงการชุมชนสีเขียว เมืองสีเขียว(Green Community) เพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำเกษตรในเมืองในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองนำทีมเกษตรทุกหน่วยและทีมเพชรบุรีโมเดล เปิดเผยวันนี้(1ก.พ.)หลังจากลงพื้นที่สร้างการรับรู้โครงการชุมชนสีเขียว เมืองสีเขียว (Green Community- Green City)ให้ชาวชุมชนสุรินทรฤาชัย ที่ตลาดริมน้ำ ถนนพานิชเจริญ ตำบลท่าราบ เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ว่าโครงการชุมชนสีเขียว เมืองสีเขียว มีเป้าหมาย 1.เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อคุณภาพเมืองและสวัสดิภาพประชาชน ลดฝุ่นละออง PM 2.5 ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน 2.ส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองเพื่อลดรายจ่ายครัวเรือนและชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นชุมชนที่2ต่อจาก”ชุมชนสีเขียวคลองกระแชง”โดยได้รับความสนใจจากประชาขนอย่างมากและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชุมชนสีเขียว(Green Community) 17 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีภายใต้แนวทาง”เพชรบุรีโมเดล” มีการแนะนำการปลูกพืชผักสลัด พืชสวนครัว การกำจัดศัตรูพืช การปรุงดิน การผลิตปุ๋ยไส้เดือน การทำสวนแนวตั้ง การใช้ภาชนะในครัวเรือนปลูกพืช การทำผักยกแคร่ เป็นต้นเพื่อเป็นต้นแบบของทุกเทศบาลและอบต.ที่มีความเป็นชุมชนเมือง
ทั้งนี้นายอลงกรณ์ย้ำว่า เขตเมืองยังมีพื้นที่สีเขียวมีพื้นที่สวนสาธารณะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานไม่ถึง9ตารางเมตรต่อคน และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหารเพราะผลิตอาหารได้เองไม่ถึง10% ทั้งนี้ในปี2562 เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่จำนวนประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรก
อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ(Climate Change)จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(GHG)ทำให้โลกร้อนขึ้น ตนจึงริเริ่มดำเนินการ “ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง”( Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project )เป็นครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองที่ตนเป็นประธานและมีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ.เป็นเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติเป็นโครงการในรูปแบบเกษตรในเมือง (Urban Farming)แบบยั่งยืนและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหลายรูปแบบเช่นสวนเกษตร(Pocket Garden) สวนวนเกษตร(Forest Garden)
โดยใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์เกษตร และเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เชิงประจักษ์ในเมือง รวมทั้งเป็น เครื่องยนต์ตัวใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจในเมือง เชื่อมโยงเศรษฐกิจชนบท สร้างความสมดุลใหม่ให้กับประเทศ ด้วยการดำเนินการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน(global warming) ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับมลพิษโดยพืชพรรณท้องถิ่น มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นไม้ดอกไม้ประดับ พืชอาหาร สมุนไพร ผักสวนครัว ลดรายจ่ายสร้างรายได้ และเพิ่มทางเดินเท้าที่ร่มรื่นเพิ่มคุณภาพขีวิตของคนเมืองและชุมชน เช่นโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในกรุงเทพ(กรุงเทพสีเขียว)ที่ตนเป็นประธานมีกทม.เป็นฝ่ายเลขานุการดำเนินการพัฒนาโครงการชุมชนสีเขียวที่ชุมชนวัดพระยาสุเรนทร์เขตคลองสามวาและชุมชนห้วยขวางวัดพระรามเก้าใช้โมเดล”บ้าน-วัด-โรงเรียน”หรือ”บ.ว.ร”
โดยชุมชนและครูนักเรียนช่วยกันทำแปลงสวนปลูกพืชผักทำแปลงสมุนไพรทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ทำบ่อเลี้ยงปลาและมีตลาดเกษตร(Farmer Market)โดยใช้พื้นที่วัดเพราะชุมชนในเขตเมืองไม่มีพื้นที่แต่วัดมีพื้นที่ ดังนั้นก่อนเริ่มโครงการตนได้เข้าเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อขอการสนับสนุน ท่านมีพระกรุณามากให้ตนทำหนังสือถึงมหาเถรสมาคมจนมีมติให้ทุกวัดทั่วประเทศสนับสนุนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ดังนั้นการขับเคลื่อนโครงการนี้ใน17ชุมชนของเทศบาลเมืองเพชรบุรีและเทศบาลอื่นๆจะใช้โมเดล”บ้าน-วัด-โรงเรียน”หรือ”บ.ว.ร”ก็ได้หรือใช้พื้นที่สาธารณะพื้นที่เอกชนที่ว่างเปล่าสามารถนำมาใช้ดำเนินโครงการนี้เป็น”สวนเกษตรแบบ”สวนปันสุข”อยู่แบบเอื้ออาทรและแบ่งปันกันและกันและทำ”สวนวนเกษตร”ในชุมชนเมืองหรือในบ้านแต่ละหลังช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวร่วมกันสร้างระบบนิเวศน์ธรรมชาติในเมืองลดฝุ่นละอองPM2.5ซึ่งเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีมีปัญหานี้เช่นกันกระทบต่อสุขภาพของคนเมืองเพชรจึงต้อวร่วมมือกันทุกฝ่ายโดยทีมกระทรวงเกษตรและทีมเพชรบุรีพร้อมเดินหน้าสนับสนุนดังเช่นกิจกรรมสร้างการรับรู้และการเรียนรู้ในวันนี้
สำหรับโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในระดับประเทศ มีการดำเนินการทั้งสิ้น 62 จังหวัด มีพื้นที่เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนโครงการจำนวน 595 แห่ง ประกอบด้วย (1) พื้นที่วัด จำนวน ๑๙ แห่ง (2) พื้นที่โรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัย จำนวน 373 แห่ง (3) พื้นที่โรงพยาบาล จำนวน 13 แห่ง (4) พื้นที่ชุมชน จำนวน 91 แห่ง และ (5) พื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ พื้นที่ของหน่วยงานราชการและพื้นที่เอกชน จำนวน 99 แห่ง ”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.