ฟรุ้ทบอร์ดเห็นชอบ”โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ”ตามนโยบายของรัฐมนตรีเกษตรพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ”จีน-ลาว”รองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board)เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่าที่ประชุมได้รับทราบ
1.) รายงานความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 รอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี
2.) รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน ปี 2566 – 2568 จากการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2565 มีมติมอบกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางหรือโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืนระยะยาว โดยการปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดู และนอกฤดู ให้เท่ากับร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 เพื่อให้ลำไยมีการกระจายการผลิตได้ทั้งปี ผลผลิตในฤดูไม่ซ้อนทับกันมาก เป็นทางเลือกให้แก่ตลาดได้ทุกฤดูกาล/ทุกเทศกาล ที่ต้องการลำไย โดยในฤดูกาลปกติจะลดภาวะ over supply ลงได้ร้อยละ 10 แต่ประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรไม่ลดลง
3.) รายงานสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2566 โดยคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
4.) รายงานผลการประชุมคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี ครั้งที่ 1/2565
โดยใช้แนวทางการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP)
5.) รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
6.) รายงานสรุปผลการประชุมเฉพาะกิจการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาว ซึ่งเป็นโอกาสของฝ่ายไทยและขยายเส้นทางการขนส่งทางรางเพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเข้า – ส่งออกสินค้าไปจีนและผ่านจีนไปยังสหภาพยุโรปผ่านเส้นทางตะวันออกกลาง และเอเซียกลาง มีการดำเนินการ ดังนี้
(1) การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการตู้และขบวนรถไฟ มีหน้าที่ในการรับจองตู้และขบวนรถไฟ เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ ปี 2566 โดยความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคเอกชน โดยประสานงานกับสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (2) การปรังปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟ ไทย – จีน -ลาว รวมไปถึงการขยายเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น (3) เร่งรัดการเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนสำหรับระบบตรวจสอบ รวมไปถึงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และโครงการพื้นฐานของด่านส่งออกที่สำคัญ เช่น ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม และด่านหนองคาย (4) ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยสร้างการรับรู้ ข้อปฏิบัติ ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย – จีน – ลาว ในระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการ ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ปี 2566” ที่นำเสนอโดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ซึ่ง”โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ปี 2566” เป็นนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 904/2565 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย
มีหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และได้จัดทำแผนงานการขับเคลื่อนคณะทำงานฯ ด้วยงบประมาณรวม 71.44 ล้านบาท โดยมอบหมาย กรมส่งเสริมการเกษตร บูรณาการในพื้นที่สวนทุเรียน จัดตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 68 จุด ได้แก่ จันทบุรี(40 จุด) ตราด(7 จุด) ระยอง(6จุด) ชุมพร(10 จุด) นครศรีธรรมราช (5 จุด) สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ รวม 100 ท่าน ลงพื้นที่ตรวจรายแปลง และกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ ตรวจสอบ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทุเรียนที่นำมาส่งที่ล้งจะต้องมีใบรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ก่อนจะส่งไปตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ ในการส่งออกไปยังประเทศจีน นั้น กรมวิชาการเกษตร จะตรวจสอบทุเรียน – สวนทุเรียนต้องได้รับการรับรอง GAP – โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง GMP – ผลผลิตทุเรียนต้องเป็นไปตาม มกษ 3-2556 ก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร จะได้มีการปรับปรุงการตรวจสอบมาตรฐานGAP และ GMP และแจ้งให้ทางตลาด จีน ให้ทราบในทุกไตรมาสของปีการส่งออก
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ประธานการประชุมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง (นอกรอบ) เพื่อหารือราคาค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP และ GMP เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร
ในการประชุมฟรุ้ทบอร์ดครั้งที่1/2566 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ Fruit Board ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) Application ZOOM Cloud Meetings พร้อมด้วย คณะกรรมการ และผู้แทน อาทิ นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายณฤทธิ์ บุญชัย ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สป.กษ. ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร ผู้แทนภาคเอกชน โดยมี นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ ผอ.สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร และนางสาวเพ็ญระพี ทองอินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ผล เป็นฝ่ายเลขานุการ การประชุม.