อีอีซี เปิดความสำเร็จ รวมพลังเครือข่ายพลังสตรีกว่า 600 คน สร้างการรับรู้คนในพื้นที่ เฝ้าระวังดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมพัฒนาสินค้าวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน เพิ่มรายได้ให้คนอีอีซีต่อเนื่อง
วันนี้ (19 ม.ค. 2566) นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เข้าร่วมมอบนโยบายการดำเนินงานของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ปี 2566 ภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลโครงการเสริมสร้างเครือข่ายการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผัง อีอีซี (EEC Woman Power) โดยมีนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีอีซี เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน อีอีซี เข้ามอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายพลังสตรีอีอีซี จากพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ที่เข้าร่วมงานฯ ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี
โครงการ เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นับเป็นโครงการสำคัญที่ อีอีซี ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 4 ในปี 2566 นี้ เพื่อให้กลุ่มพลังสตรีใน 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ที่เข้าร่วมโครงการฯ กว่า 600 คน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจนโยบายต่างๆ ของอีอีซี และร่วมเป็นเครือข่ายในการดูแลเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินในอีอีซี ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน อีอีซี รวมถึงการยกระดับอาชีพ และผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งพลังสตรีได้มีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนให้ขายสินค้าท้องถิ่นได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมที่เด่น ๆ ของเครือข่ายพลังสตรีอีอีซี ซึ่งได้มีกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เช่น กรณีการลักลอบประกอบกิจการโรงงานหลอมทองเหลืองในพื้นที่ สปก. จังหวัดฉะเชิงเทรา การลับลอบทิ้งขยะและกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนบุคคล ในพื้นที่อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ซึ่งพลังสตรีอีอีซีได้ร่วมสังเกตการณ์และเฝ้าระวังการกระทำผิดด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และช่วงอุทกภัยในพื้นที่ที่ผ่านมา กลุ่มพลังสตรี ได้ร่วมกับอีอีซี ดำเนินกิจการที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น การจัดทำถุงยังชีพเพื่อเป็นกำลังใจให้ชุมชน เป็นต้น
โดยการดำเนินงานของกลุ่มพลังสตรีอีอีซี ในระยะต่อไป นอกจากบทบาทด้านการเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นไปตามแผนผัง อีอีซี และด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว พลังสตรีอีอีซี จะสามารถขยายบทบาทด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ชุมชน สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานในระยะที่ 4 ของอีอีซี ที่จะมุ่งพัฒนาไปที่ประชาชน ชุมชน ให้มีรายได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีงานทำและเป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป
สำหรับโครงการ พลังสตรีอีอีซี หรือโครงการเสริมสร้างเครือข่ายการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผัง อีอีซี (EEC Woman Power) อีอีซี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้กลุ่มสตรีใน อีอีซี ได้มีส่วนร่วมและเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ อีอีซี และร่วมเป็นพลังเครือข่ายในการดูแลและเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินใน อีอีซี ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. ทั้ง 3 จังหวัด โดยปัจจุบันมีเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ที่จะร่วมกับอีอีซี เสริมสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนกว่า