เพื่อไทย ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ.เงินเดือน ป.ตรี 25,000 ทำได้จริง เหตุหากรัฐบาลเพื่อไทยยกระดับ ศก.ทั้งระบบ ภาคการผลิต การเกษตร เงินหมุนในระบบเร็วขึ้น เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ – รวยกระจุกจนกระจาย
พรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีการแสดงวิสัยทัศน์รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2570 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการทีมคิดเพื่อไทย ร่วมรับฟังในการแถลงข่าว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า การแถลงวิสัยทัศน์ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในปี 2570 ต้องการให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นร้ฐบาล จะทำงานบริหารบ้านเมืองรับใช้พี่น้องประชาชน ซึ่งตนมีความเข้าใจดีว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ไม่ดี พรรคเพื่อไทยจึงมองภาพในอนาคตว่า หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทในตอนนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ตกต่ำและยังไม่เติบโต
ทั้งนี้ การแสดงวิสัยทัศน์ในงาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ วานนี้ (6 ธ.ค.65) คือปรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน เพราะในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมาหลักสิบบาท จึงเป็นเหตุผลให้เกิดปัญหา ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ คนที่ได้ประโยชน์จากค่าแรงในระดับต่ำ คือ คนกลุ่มเล็กบนยอดสามเหลี่ยมเท่านั้น แต่ฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเดือดร้อน พรรคเพื่อไทยจึงต้องคิดใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นไปด้วยกัน ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งประเทศ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก
นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า ปัญหาการรวยกระจุก จนกระจาย เพราะคนไทยซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน ยังไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับศักดิ์ศรีเพียงพอ เมื่อเทียบกับบางประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 1,800 บาทต่อวัน แต่ภาพรวมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และทำให้ภาพรวมทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นด้วย การเติบโตของเศรษฐกิจในแนวทางของพรรคเพื่อไทย คือต้องการให้ทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น ทุกระบบ เติบโตได้ทุกโอกาส สามารถออกมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัวของตัวเองได้ การคิดเล็กไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘ คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”
“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับขึ้นเป็น 600 บาท ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพี จะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า หรือปีต่อมา อาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จุดยืนหรือหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทย คือ สร้างรายได้ ขยายโอกาส ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือหนี้ เราจึงต้องแก้หนี้ด้วยการสร้างรายได้ ไม่ใช่การสร้างหนี้ ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ก็กู้ เมื่อกู้แล้ว ขยายเพดานกู้ ขณะนี้ค่าจ้างแรงงานยังต่ำ รายได้ประเทศต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง แต่ในการแสดงวิสัยทัศน์ทั้ง 10 ประเด็นวานนี้ (6 ธ.ค.65) มีการแถลงแนวนโยบายหลายเรื่องร้อยเรียงกัน เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ต้องมีการสร้างรายได้ใหม่ พร้อมกันไปด้วย
ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นของภาคเอกชนทั้งหลายที่เกิดขึ้น หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รัฐเก็บรายได้จากกลุ่มธุรกิจ 20% จากกำไร แปลว่า รัฐถือหุ้นเอกชน 20% ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่รัฐ ที่ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพื่อหารายได้ ในส่วนของภาคการเกษตร คิดเป็น 40% ของประเทศ แต่สร้างรายได้เพียง 8% ของ GPD จึงต้องยกระดับรายได้จากภาคเกษตรจาก 10,000 บาท/ไร่/ปี เป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี ด้วยหลักการทำงาน ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ก็จะเกิดรายได้
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคี ต้องเกิดจากความเห็นพ้องร่วมกันระหว่าง รัฐ – ผู้ประกอบการ – ประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำคิดขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พรรคเพื่อไทยรู้ว่าผลิตภาพการผลิต คือที่มากำไรของผู้ประกอบการที่จะนำมาจ่ายเงินเดือน-โบนัส แรงงานได้ ส่วนรายได้เข้าประเทศอื่นๆ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยคิดจากฐานของรายได้ภาคท่องเที่ยวก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อไทยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนด้วยการสร้างแรงดึงดูดด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่มากมาย และการจัดการการบิน-สนามบิน-การอำนวยความสะดวกด่านตรวจคนเข้าเมือง พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชน จะไม่บริหารราชการแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวแบบปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังนำเอาศักยภาพที่ซ่อนเร้นของประชาชน (ซอฟพาเวอร์) มาสร้างรายได้เข้าประเทศ เพราะประชากรไทยมี 22 ล้านครัวเรือน เป้าเพิ่มรายได้ใหม่ 1 ครอบครัว 1 คน จะสร้างงานขึ้น 20 ล้านตำแหน่ง คำนวณรายได้ 200,000 บาท/ปี คิดเป็นรายได้ 4 ล้านล้านบาท หรือรายได้เพิ่มขึ้น 25% พรรคเพื่อไทยทำได้แน่นอน
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 600 บาทต่อวัน และปรับเงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 25,000 บาทนั้น สังคมตั้งคำถามมากมาย ซึ่งขอตอบในหลายประเด็นดังนี้
1. ค่าแรง 600 บาท กับปี 2570 เหมาะไหม ทำได้หรือไม่? คำตอบคำถามนี้ พุ่งตรงไปที่วิสัยทัศน์ของผู้พูดว่ามองประเทศไทยในปี 2570 มีหน้าตาเป็นแบบไหน หากมองยังไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต เป็นเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน เป็นการท่องเที่ยวราคาถูก เป็นการผลิตที่ใช้แต่แรงงานไร้ฝีมือ ไม่แปลกใจว่าค่าแรง 600 บาท คงเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีคิดของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยที่บริหาร 4 ปี หลังได้รับการเลือกตั้ง ไทยจะยกระดับการผลิตไปอีกขั้น จากผู้ผลิตตามคำสั่งต่างชาติ จะกลายเป็นการเป็นผู้สร้างนวัตกรรม จากภาคการเกษตรตามยถากรรมจะพลิกเป็นการเกษตรที่กำหนดราคาได้ จากการตลาดนำการผลิต จากภาคบริการรายได้ต่ำ เป็นภาคบริการชั้นสูงที่ยกระดับรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ต่อไปนี้ไทยจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยเศรษฐกิจศักยภาพสูง ด้วยแรงงานศักยภาพสูง ไม่ใช่แรงงานทักษะต่ำราคาถูก คู่แข่งของเราไม่ใช่เวียดนาม แต่เป็นสิงคโปร์และประเทศที่พัฒนาแล้ว นี่คือวิสัยทัศน์ของเราในอีก 5 ปี ที่ต่างกับผู้วิจารณ์ หน้าตาประเทศไทยที่ต่างกัน และนั่นนำไปสู่ค่าแรงที่แตกกัน
2. ค่าแรง 600 บาท คิดจากอะไร? 3 องค์ประกอบ ของค่าแรง การโตของเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และเงินเฟ้อ ค่าแรงต้องถูกปรับอย่างสม่ำเสมอตามปัจจัยเหล่านี้ แต่ 20 ปีที่ผ่านมาเกาะอยู่เงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และโตไม่ทัน GDP เศรษฐขยายตัวเร็วกว่ารายได้ของแรงงาน หมายถึงรายได้นายจ้างโตเร็วกว่าลูกจ้าง และนี่คือปัญหา คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข และเราตั้งเป้า GDP ต่อจากนี้จะโตปีละ 5% หากไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ช่องว่างจะระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะยิ่งกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
3. ค่าแรง 600 บาท กับนายจ้าง? นายจ้างกับลูกจ้างคือขาซ้ายและขาขวาของเศรษฐกิจ ต้องเดินไปคู่กัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำคู่ขนานกับต้นทุนนายจ้าง ซึ่งเราจะมีการออกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการต่อไป ทั้งในเรื่องของภาษีและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการผลักในเศรษฐกิจขยายตัว จากนโยบายทั้งหมดของพรรคเพื่อไทย และในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับค่าแรง ผนวกกับการลดภาระผู้ประกอบการผ่านการลดภาษีนิติบุคคล
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงสามารถ 1.เพิ่มค่าแรง 2.ลดภาษีผู้ประกอบการ แต่เก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น รายได้เอกชนขยายตัวขึ้น 3. GDP ขยายตัว ทั้งหมดคือความสำเร็จของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าขึ้นค่าแรงโดยเศรษฐกิจยังโต เอกชนเฟื่องฟู นั้นทำได้ และเราเคยทำมาแล้วและจะทำอีกครั้ง
4. ค่าแรง 600 บาท กับการเร่งเงินให้หมุนเร็วในระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันเม็ดเงินในประเทศหมุนช้าที่สุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มความเร็วของการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของแรงงาน 600 บาทเป็นหนึ่งในคำตอบที่สำคัญ จำเป็นต้องสร้างรายได้ในชนะภาระหนี้ และสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทั้งนี้ในช่วง รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำมาแล้ว เศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงด้วยเม็ดเงินที่หมุนเร็ว เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เงินเปลี่ยนมือเร็ว เงินหมุนเร็ว กว่าในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกือบ 40% เงินในอดีตหมุนเร็วกว้าในปัจจุบันเกือบ 2 เท่าตรงนี้เป็นสิ่งอันตรายและต้องเร่งแก้ไข