“บลูเทค ซิตี้” ประสานความร่วมมือกับกลุ่มภาคีเครือข่าย ลงนาม MOU สร้างทุ่งสมุนไพรป่าชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย

“บลูเทค ซิตี้” ประสานความร่วมมือกับกลุ่มภาคีเครือข่าย ลงนาม MOU สร้างทุ่งสมุนไพรป่าชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย

​วันนี้ 6 ธันวาคม 2565 ที่บริเวณทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ภายในนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ และภาคีเครือข่าย 7 สถาบัน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ กล่าวว่า จากสภาวะโลกร้อน ปัญหาสุขภาพคนเมือง และปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน ปัญหาเหล่านี้ทำให้บลูเทคซิตี้ เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ทำโครงการ “ทุ่งสมุนไพรป่าชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย” โดยการเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาแนะนำการปลูกสมุนไพรพื้นถิ่นไทย “ต้นเหงือกปลาหมอ” ที่มีประวัติการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่โบราณกาล โดยมักพบในบริเวณป่าชายเลน สามารถนำเป็นยาและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลน สร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม รวมถึง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในตำบลเขาดิน ให้เป็นหนึ่งในเมืองอัจฉริยะ เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมได้เป็นอย่างดี โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง /กอ.รมน.จังหวัดฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยบูรพา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการพัฒนาทุ่งสมุนไพรป่าชายเลนนี้ จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้เยาวชนและชุมชนเกิดการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรที่ตนมีอยู่ เป็นแหล่งเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญา สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พร้อมทั้งต่อยอดข้อได้เปรียบที่มีในความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน เกิดการระดมความคิดตั้งแต่ระดับตำบล ระดับอำเภอ พัฒนาสู่ระดับจังหวัด และประเทศ ดังคติพจน์ของชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

Related posts