กระทรวงดิจิทัลฯ – ดีป้า ประกาศผลรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ชูไอเดียรัฐ – เอกชนประยุกต์ใช้ดิจิทัลพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย
1 ธันวาคม 2565, กรุงเทพมหานคร – กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า จัดพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 แก่ผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง และยกระดับ การให้บริการประชาชนใน 7 ด้าน รวม 20 รางวัล
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 แก่ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เจ้าของผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการเมือง และให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะทั้ง
7 ด้าน ประกอบด้วย เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) การขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) รวม 20 รางวัล
นายเนวินธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนคิดค้นและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ควบคู่ไปกับการบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยปีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จัดให้มีกิจกรรมประกวดเพื่อชิงรางวัลในโครงการ Smart City Solutions Awards 2022 เพื่อเฟ้นหาผลงานที่มีความโดดเด่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง และให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้านด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยผลงานต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลเป็นระบบบริการที่ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งจะเป็นต้นแบบองค์ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ในการสร้างสรรค์โซลูชันเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ Smart City Solutions Awards 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดรวม 57 ผลงาน และมีผลงานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และได้รับรางวัลในแต่ละด้านรวม 20 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนเป็นโซลูชันที่มุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่อย่างตรงจุดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งมีแนวทาง
การประเมินผล รวมถึงการนำไปใช้อย่างชัดเจน ตลอดจนสร้างความมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่
ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“โครงการ Thailand Smart City Solutions Awards 2022 ถือเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งก่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างไปยังหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการระบบบริการเมืองอัจฉริยะ รวมถึงประชาชนหรือผู้รับบริการที่จะได้รับรู้และเข้าใจในระบบบริการเมืองอัจฉริยะ และแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการเมือง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
รางวัลชนะเลิศ
– โครงการ หลาดยะลา (Yala Market) “ระบบบริการด้านตลาดออนไลน์กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น” โดย เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
รางวัลชมเชย
– โครงการ ส่งเสริมตลาดเกษตรออนไลน์ “สดจากฟาร์ม เสิร์ฟจากเว็บ”
โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนม
2. ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
รางวัลชนะเลิศ
– โครงการ Smart Grid in Samyan Smart City “ระบบจัดการพลังงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ”
โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
รางวัลชมเชย
– โครงการ Smart IoT Street Lighting (โคมไฟถนนอัจฉริยะ)
โดย บริษัท จัมโบ้ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดระยอง
3. ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
รางวัลชนะเลิศ
– โครงการ Chula Zero Waste “ความยั่งยืนในการจัดการขยะอย่างครบวงจร”
โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
รางวัลชมเชย
– โครงการระบบแสดงข้อมูลการตรวจสอบอาหารทะเลปลอดฟอร์มาลิน
โดย เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี
4. ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
รางวัลชนะเลิศ (2 ผลงาน)
– โครงการระบบรับและบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ “เพื่อการบริการภาครัฐที่ทันสมัยและคล่องตัว” โดย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
– โครงการบ้านกลาง One Stop Service “ระบบที่ส่งต่อบริการอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว”
โดย เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน
รางวัลชมเชย (2 ผลงาน)
– โครงการโครงข่ายนครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ (Super Node)
โดย เทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
– โครงการ บวกค้าง อี เซอร์วิส (Buakkhang E-Service) ภายใต้โครงการไตยอง Smart City
โดย เทศบาลตำบลบวกค้าง จังหวัดเชียงใหม่
5. ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)
รางวัลชนะเลิศ
– โครงการระบบรับรองความพิการแบบเบ็ดเสร็จ “การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีแก่กลุ่มเปราะบาง”
โดย โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดหนองบัวลำภู
รางวัลชมเชย (5 ผลงาน)
– โครงการระบบเฝ้าระวังระดับน้ำในลำคลอง ป้องกันเหตุอุทกภัย
โดย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
– โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีภาวะพึ่งพิงด้วย Smart Care (ริสแบนด์อัจฉริยะ)
โดย องค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น
– โครงการ EMS 365 องศา พิกัดชีวิต พิกัดฉุกเฉิน
โดย เทศบาลตำบลท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
– โครงการ Application LTC Smart Yangnoeng (ยางเนิ้ง) โดย เทศบาลตำบลยางเนิ้ง
จังหวัดเชียงใหม่
– โครงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง
โดย เทศบาลตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน
6. ด้านขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)
รางวัลชนะเลิศ
– โครงการ เวียบัส แพลตฟอร์มขนส่งโดยสารประจำทาง “เพื่อความสะดวกในการเดินทางในระบบขนส่งมวลชน” โดย บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รางวัลชมเชย
– MuvMi (มูฟมี): EV Tuk-Tuk Sharing
โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
7. รางวัล ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
รางวัลชมเชย (2 รางวัล)
– โครงการนวัตกรรมสร้างสุขปางหมู Smart Kids ระบบบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะ
โดย องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน
– โครงการพัฒนาหลักสูตรสำหรับวิทยากรต้นแบบ (Master Teacher)
โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ ในพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ดีป้า ยังได้ลงนามข้อตกลง
ความร่วมมือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบันฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บริษัท เทค มาฮินดร้า จำกัด โดยมุ่งให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างระบบนิเวศที่ทำให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน เพื่อเป็นกลไกในการยกระดับศักยภาพกำลังคนและบุคลากรให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีหลายพื้นที่แสดงความสนใจจะพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีเมืองที่ส่งแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะมายังสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว 66 แผน และมีเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมืองใน 23 จังหวัด นอกจากนี้ ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากร ยกระดับทักษะการพัฒนาเมืองแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำเมืองและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแผนพัฒนาเมือง รวมถึงการบ่มเพาะนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) รุ่นที่ 2 จำนวน 150 คนที่จะทำหน้าที่เป็นทูตเทคโนโลยีลงพื้นร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับหน่วยงานร่วมพัฒนาเมือง 56 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาเมืองที่เข้มแข็งต่อไป