คนรักทะเลเฮ! ‘แม่เต่ามะเฟือง’ วางไข่รังแรกของฤดู ที่หาดบางขวัญ-พังงา
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 (เวลา 06.00 น.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า ทันทีที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับแจ้งจากกำนันตำบลโคกกลอย พบรอยการเดินขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองบริเวณหาดบางขวัญ หมู่ที่ 8 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ตนจึงได้มอบหมายให้ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน ลงตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว
พบมีรอยเดินขึ้นและลงของเต่าทะเล ขนาดความกว้างขาคู่หน้า 220 เซนติเมตร ความกว้างรอยบริเวณหน้าอก 110 เซนติเมตร จากการตรวจสอบสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเต่ามะเฟือง พบหลุมวางไข่เต่ามีความลึก 78 ซม. กว้าง 302 ซม. จากการสำรวจพบว่าหลุมวางไข่เต่านั้นมีความไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวนั้นน้ำทะเลท่วมถึงอาจทำให้ไข่เน่าหมดได้ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการย้ายไปยังพื้นที่เหมาะสม ทั้งนี้ไข่เต่ามะเฟืองรังดังกล่าวนับได้ทั้งสิ้น 118 ฟอง มีไข่ดี 102 เป็นไข่ลม 12 ฟอง ก่อนจะทำการกันคอกเพื่อป้องกันสัตว์มากินไข่พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิชนิด 2 หัว เพื่อคำนวนวันฟักจากอุณหภูมิไว้ที่หลุมไข่ พร้อมสั่งการให้จัดเวรยามเฝ้าตลอด 24 ชั้วโมง
ทั้งนี้การวางไข่ครั้งนี้เป็นการวางไข่ครั้งที่ 1 ของฤดูกาลวางไข่ 2565/2566 ซึ่งโดยปกติเต่ามะเฟืองจะขึ้นมาวางไข่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ตเป็นประจำทุกปี ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม โดยสถิติวางไข่ที่ผ่านมาพบว่า ระหว่างปีพ.ศ. 2561/2562 พบเต่ามะเฟืองวางไข่ 3 รัง ปีพ.ศ.2562/2563 มีเต่ามะเฟืองวางไข่ 16 รัง และปี พ.ศ. 2563/2564 พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ 18 รัง
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า การขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองบริเวณจังหวัดพังงาและภูเก็ต เป็นความสำเร็จ จากการร่วมมืออนุรักษ์ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ ในการดูแลและปกป้องหาดที่เป็นแหล่งวางไข่ การขึ้นวางไข่เต่ามะเฟืองมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่เป็นระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2555-2560 เนื่องจาก ปัญหาการกินขยะพลาสติกเป็นภัยคุกคามหนึ่ง นอกเหนือจากการบุกรุกพื้นที่ชายฝั่ง และการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ แต่จากความพยายามในการฟื้นฟูแหล่งวางไข่เต่ามะเฟือง โดยการริเริ่มความร่วมมือระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ และภาครัฐ เกิดเป็นปฎิญญาการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาวขึ้นในปี พ.ศ.2559 ทำให้พบเต่ามะเฟืองขึันวางไข่อีกครั้ง ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2563ได้ขยายพื้นที่ความร่วมมือเป็นปฎิญญาการอนุรักษ์เต่าทะเลของจังหวัดพังงาและภูเก็ต แม่เต่ามะเฟืองสามารถวางไข่ได้หลายรังในแต่ละฤดูวางไข่
โดยในต้นปี พ.ศ. 2564 พบแม่เต่ามะเฟืองชื่อแม่อัลฟ่าวางไข่มากถึง 10 รัง แต่ละรังมีจำนวน 60-120 ฟอง และจะกลับมาวางไข่ทุกๆ 2-3 ปี แม่เต่ามะเฟืองที่วางไข่ที่หาดบางขวัญในครั้งนี้ จะกลับขึ้นมาวางไข่ในอีก 10 วันข้างหน้า และจะใช้เวลาโดยประมาณ 50-60 วัน สำหรับการฝักเป็นตัวในรังดังกล่าว ในระหว่างนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการติดตามการพัฒนาการของตัวอ่อนพร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อการเฝ้าระวัง เมื่อลูกเต่ามะเฟืองฟักเป็นตัว ประชาชนสามารถเข้าร่วมชมผ่านการถ่ายทอดสดหรือเข้ามาร่วมปล่อยในพื้นที่ได้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนำพามาซึ่งความสำเร็จในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเต่ามะเฟืองในประเทศไทย อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดูและรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการเป็นแหล่งวางไข่ การลดภัยคุกคามโดยเฉพาะปัญหาขยะทะเลเป็นสิ่งสำคัญต่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”