“วราวุธ” ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง บนเวที COP27 ตอกย้ำประชาคมโลก “ไทยพูดจริง ทำจริง” โชว์ความก้าวหน้าการรับมือด้านสภาพภูมิอากาศ

“วราวุธ” ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง บนเวที COP27 ตอกย้ำประชาคมโลก “ไทยพูดจริง ทำจริง” โชว์ความก้าวหน้าการรับมือด้านสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ Sharm El Sheikh International Convention Center สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม COP27 ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ต่อที่ประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP27) โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วม


นายวราวุธ ได้กล่าวบนเวที COP27 ว่า “ประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน ตลอดจนส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างจริงจัง และในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ เชื่อว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำ APEC เพื่อช่วยบูรณาการความร่วมมือไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการของเสีย”


“นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เร่งดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี ค.ศ. 2040 ตลอดจนส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมทำความเย็น และอยู่ระหว่างนำร่องวิธีการปลูกข้าวทางเลือกแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อีกทั้ง กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ภายในปี ค.ศ. 2037 รวมถึงดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มทำความตกลงเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส อีกด้วย”


นายวราวุธ ยังได้กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า “ความร่วมมือกันของมนุษยชาติจะสามารถกำหนดอนาคตของเราได้ หากเราร่วมมือกัน เราจะสามารถเอาชนะความท้าทายนี้ที่เราสร้างขึ้นมาเองได้ การร่วมมือร่วมใจ จะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้”

Related posts