กระทรวงเกษตรฯ.ผนึกอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดียกระชับความร่วมมือด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งเป้ายกระดับความมั่นคงทางด้านอาหารและการเกษตร
(วันที่ 26 ตุลาคม 2565) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับรัฐมนตรี (AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 (44th AMAF) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 พร้อมด้วย นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM AMAF Leader) โดยมี ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรลาหารแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้แทนกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meeting)
โดยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 (44th AMAF) รัฐมนตรีเกษตรอาเซียน 10 ประเทศ ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของประเทศสมาชิก โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบเอกสารทั้งหมด 21 ฉบับ และรับทราบเอกสารทั้งหมด 4 ฉบับ ในสาขาต่าง ๆ ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ มาตรฐาน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความกังวลถึงการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ และเห็นชอบที่จะดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟู
อีกทั้งเห็นชอบให้จัดทำปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (ASEAN Leaders Declaration on Strengthening Food Security) ในปี 2566 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา องค์การระหว่างประเทศ และคู่ภาคีอื่น ๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงความขอบคุณที่ Guidelines on sharing, Access to, and Use of IUU Fishing-related Information ได้รับการผลักดันและรับรองจากที่ประชุม เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีแนวทางไปปฏิบัติ
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 (22nd AMAF Plus Three) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความขอบคุณประเทศบวกสามที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพและเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ APTERR และ สำนักเลขาธิการ AFSIS ยังคงสนับสนุนสำนักเลขาธิการ APTERR และ AFSIS ต่อไป โดยการดำเนินงานของ APTERR และ AFSIS มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การบรรเทาความยากจน และการกำจัดภาวะทุพโภชนาการภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงความท้าทายของการระบาดของ COVID-19 และการฟื้นฟูภายหลังการระบาด นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังพร้อมสนับสนุน AFSIS ในการเป็น intergovernmental organization เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างสูงสุด
ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 7 (7th AIMMAF) ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะกลางสำหรับความร่วมมืออาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ (2564-2568) และยินดีที่มีโครงการริเริ่ม Centralilty of Soil in Agriculture and Environment เพื่อลดการใช้ปุ๋ยและปรับปรุงสุขภาพดิน และนำไปสู่ smart farming ในอนาคต
สุดท้ายนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงขับเคลื่อนนโยบาย 3S (Safety, Security และ Sustainability) ควบคู่กับ Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพร้อมที่จะร่วมมือในภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ กับประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีต่าง ๆ ในการยกระดับความมั่นคงทางด้านอาหาร และการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ