“อลงกรณ์”เชิญอธิบดีกรมวิชาการชี้แจงฟรุ้ทบอร์ดวันพฤหัสบดีนี้หลังทราบข่าว”ชลธี”ถูกโยกย้าย
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
(ฟรุ้ทบอร์ด)เปิดเผยวันนี้ว่า หลังจากทราบข่าวว่ามีการโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6)ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชจนมีเสียงเรียกร้องจากหลายองค์กรด้านผลไม้ขอให้มีการทบทวนการโยกย้ายดังกล่าวจึงให้ฝ่ายเลขาฯ.เชิญอธิบดีกรมวิชาการมาชี้แจงต่อที่ประชุม
ฟรุ้ทบอร์ดซึ่งมีการประชุมทุก2เดือนโดยครั้งต่อไปจะประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 27ตุลาคมนี้ถึงเหตุผลในการโยกย้ายนายชลธีซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกรมวิชาการที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกอันเป็นแหล่งผลิตผลไม้แหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ
“ฟรุ้ทบอร์ดเป็นคณะกรรมการระดับชาติมีหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้เศรษฐกิจของประเทศจึงให้ความสำคัญกับบุคคลากรที่เป็นคีย์แมนคนสำคัญๆของทุกกระทรวงทบวงกรมและตำแหน่งผู้อำนวยการสวพ.6ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น จึงขอทราบเหตุผลและความจำเป็นของการโยกย้ายดังกล่าว แม้การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการจะเป็นอำนาจของผู้บริหารกรมซึ่งฟรุ้ทบอร์ดไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซงการบริหารงานบุคคล
แต่ฟรุ้ทบอร์ดก็มีสิทธิ์ที่จะรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงบุคคลากรที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญภายใต้การบริหารจัดการผลไม้ของฟรุ้ทบอร์ดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการทำงานภายใต้นโยบายสำคัญๆของฟรุ้ทบอร์ดจะไม่เกิดปัญหาโดยเฉพาะการปราบปรามขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนและทุเรียนอ่อนจะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดต้องไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดไปแสวงประโยชน์หรือหากมีใครแอบอ้างผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองก็ให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุดจะต้องไม่มีการลูบหน้าปะจมูกเป็นอันขาด เป็นนโยบายที่ประธานฟรุ้ทบอร์ดย้ำมาโดยตลอดเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ ”
นายอลงกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดได้มอบนโยบายตั้งแต่ปี 2562ในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลไม้เป็นนโยบายหลักรวมทั้งนโยบายปราบปรามขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนและทุเรียนอ่อนอย่างเด็ดขาดในทุกภาคทั่วประเทศพร้อมกับการใช้นโยบายตลาดนำการผลิตและการบริหารโลจิสติกส์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในฐานะประธานคพจ.และจังหวัดอื่นๆจนสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวสวนและประเทศจากการส่งออกทุเรียนและผลไม้ของไทยได้กว่า2แสนล้านบาทโดยเฉพาะทุเรียนผลสดส่งออกทะลุ100,000ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานของทุกภาคีภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชน สมาคมทุเรียนสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนมังคุด สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ สหกรณ์การเกษตรและชาวสวนโดยเฉพาะฑูตเกษตรที่ช่วยคลี่คลายปัญหาการปิดด่านที่ร่วมกันทำงานอย่างหนักฝ่าฟันวิกฤติโควิด19และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนตลอดเวลากว่า3ปีที่ผ่านมา.