“กรมทะเลและชายฝั่ง” ดึงเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล มีส่วนร่วมปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“กรมทะเลและชายฝั่ง” ดึงเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล มีส่วนร่วมปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


(18 ตุลาคม 2565)นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่าได้ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกองจัดการชุมชายฝั่งและเครือข่าย (กจช.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้สอดรับกับนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นย้ำการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน มีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เข้าถึงง่าย ตลอดจนมีฐานข้อมูลเครือข่ายฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานฯ ในแต่ละพื้นที่ จะต้องใกล้ชิดกับผู้นำชุมชนชายฝั่ง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการดำเนินงานผ่านกลไกการมีส่วนร่วมภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยหัวใจหลักของการทำงานด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมคือ “ความจริงใจ รับฟังความคิดเห็น เอื้อเฟื้อ พร้อมช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา” อันจะนำไปสู่ความไว้วางใจ และทัศนคติที่ดีของเครือข่ายฯ

ซึ่งปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ส่งเสริมให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างถูกต้องเหมาะสมแก่สาธารณะ โดยเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล นับเป็นกำลังสำคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรงจากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ กรมทะเลและชายฝั่งได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลมาอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพและเกิดความเข้มแข็ง อีกทั้งร่วมกันสอดส่องดูแลระบบนิเวศทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทั้งด้านการบุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน การทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ขยะทะเล การทำประมงผิดกฎหมาย การล่าและค้าสัตว์ทะเลหายาก การครอบครองซากสัตว์ป่า และการกัดเซาะเซาะชายฝั่ง หากพบเห็นกรณีดังกล่าวแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง


นายอรรถพล กล่าวว่า จากการรายงานฐานข้อมูลชุมชนชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประจำปี 2565 พบว่า มีจำนวนชุมชนชายฝั่ง รวมทั้งสิ้น 581 กลุ่ม มีสมาชิก 15,356 คน ประกอบด้วย ฝั่งทะเลตะวันออก แบ่งออกเป็น 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี มีชุมชนชายฝั่ง 107 กลุ่ม มีสมาชิก 3,069 คน ฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน แบ่งออกเป็น 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีชุมชนชายฝั่ง 57 กลุ่ม มีสมาชิก 1,609 คน ฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน แบ่งออกเป็น 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล มีชุมชนชายฝั่ง 261 กลุ่ม มีสมาชิก 5,718 คน และฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แบ่งออกเป็น 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส มีชุมชนชายฝั่ง 156 กลุ่ม มีสมาชิก 4,960 คน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 28,066 คน ในการนี้ หากประชาชนท่านใดสนใจร่วมเป็นหนึ่งในนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของท้องถิ่นตนเอง สามารถสมัครร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนชายฝั่งได้ที่ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล สามารถสมัครได้ที่ https://mr.dmcr.go.th/home ตลอด 24 ชั่วโมง

Related posts