กาฬสินธุ์ พบบ่อบาดาล ทสจ.กาฬสินธุ์แก้แล้งถังตั้งพื้นส่อไม่ได้ประโยชน์-หวั่นไม่ปลอดภัย

พบบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์เพื่อการเกษตรแก้ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์งบประมาณหั่นโครงการไม่เกิน 5 แสนบาท ส่อไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะถังน้ำเหล็กปูพลาสติกด้านในขนาด 2 หมื่นลิตรตั้งพื้นดิน และระบบส่งน้ำต่ำไม่คุ้มงบ 5 แสนบาท แถมขาดการสำรวจปริมาณน้ำแหล่งขุดเจาะ ชาวบ้านหวั่นน้ำหมดใช้ไม่ถึงหน้าแล้ง และไม่ปลอดภัยกลัวถังเหล็กล้มทับ คาดยังมีบ่อบาดาลลักษณะดังกล่าวอีกเพียบกระจายหลายอำเภอ


เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 จากการติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงให้กับพี่น้องประชาชนและเกษตรกรของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ และการบริหารจัดการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องน้ำ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการเร่งแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่การดำเนินงานของส่วนราชการในพื้นที่บางหน่วยงานกลับไม่สนองนโยบายได้เท่าที่ควร และหลายโครงการประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง


โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและน้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดพบบ่อบาดาล พลังงานโซล่าเซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ที่ดำเนินการดูแลรับผิดชอบและดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ หรือ ทสจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายแห่ง แต่กลับส่อไปในทางที่ประชาชนและเกษตรไม่ได้รับประโยชน์ในระยะยาวอย่างเต็มที่ รวมทั้งการออกแบบก่อสร้างและการนำวัสดุอุปกรณ์มาใช้อาจจะไม่คุ้มและเหมาะสมกับเงินงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างในแต่ละแห่งกว่า 5 แสนบาท


ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจบ่อบาดาลที่บ้านคำเม็ก หมู่ 7 ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ในบ่อบาดาลของโครงการดังกล่าว พบว่า มีการก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ ขุดเจาะในบริเวณเนินสูง โดยมีป้ายเขียนข้อความระบุว่า งานก่อสร้างโครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ลึก 80 เมตร เริ่มสัญญา 8 กรกฎาคม 2565 สิ้นสุดสัญญา 22 สิงหาคม 2565 ค่าก่อสร้าง 489,000 บาท


โดยการสำรวจพบอีกว่ามีการเจาะน้ำบาดาลติดตั้งเครื่องซัมเมอร์สสูบน้ำไปยังถังเหล็กขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะการนำเอาแผ่นเหล็กมาล้อมเป็นวงกลมประกบแล้วขันน็อตยึดต่อๆกันตั้งไว้บนพื้นปูนติดพื้นดินทรงกระบอก สูงประมาณ 6 เมตร โดยมีผ้ายางปูรองน้ำอยู่ด้านใน และมีการนำเอาเหล็กฉากสูงประมาณ 1 เมตร ยึดกับตัวถัง และฐานยาวประมาณ 30 ซม.ยึดกับพื้นปูนไว้ 4 ด้าน มีการต่อท่อออกจากถังเหล็ก เพื่อเตรียมส่งน้ำให้กับเกษตรกรในระยะที่ต่ำ 2 จุด แต่ไม่ได้มีการเดินระบบท่อน้ำไว้ นอกจากนี้บริเวณด้านข้างแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ติดตั้งอยู่


จากการสอบถามนายวีระยุทธ พรมศรี ผู้ใหญ่บ้านคำเม็ก หมู่ 7 ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์ ระบุว่า สำหรับโครงการดังกล่าวตนและสมาชิกรวมกลุ่มกันส่งเรื่องไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 2 ปีแล้ว เพื่อขอให้มาขุดเจาะบ่อบาดาลนำน้ำใช้มาใช้โยชน์ทางการเกษตร กระทั่งเมื่อช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการติดต่อประสานมาดำเนินการก่อสร้างขุดเจาะบ่อบาดาล ทราบว่าดำเนินการรับผิดชอบโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์


นายวีระยุทธกล่าวต่อว่า หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการตรวจรับงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคาดว่าตนและสมาชิกกลุ่ม 5 คนจะได้รับประโยชน์พื้นที่การเกษตรประมาณ 50-60ไร่ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าจะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หรือบ่อบาดาลแห่งนี้จะใช้ได้นานไปถึงช่วงหน้าแล้งหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ เพราะยังสร้างเสร็จใหม่อยู่ มีน้ำเกือบเต็มถัง และยังไม่ได้ทดลองใช้อย่างเต็มระบบ เพราะยังไม่ได้ต่อท่อ เพราะต้องซื้อท่อมาต่อเอง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือความปลอดภัย โดยเฉพาะถังเหล็กขนาดกว่า 2 หมื่นลิตรที่มีพลาสติกด้านในที่นำมาตั้งเหมือนการนำถังมาวางไว้ มีเหล็กยึดไว้น้อยมาก ตนไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะกลัวได้รับอันตราย ส่วนท่อส่งน้ำก็ติดตั้งในระดับที่ต่ำและขนาดท่อบางเบา ซึ่งตนไม่เคยเห็นบ่อบาดดาลในลักษณะนี้ เคยเห็นแต่ถังสูงส่งน้ำลงต่ำ ไม่เคยเห็นถังต่ำส่งน้ำไปต่ำ ส่วนโครงการนี้จะคุ้มกับงบประมาณหรือไม่นั้น ก็ดูไประยะยาว และคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ แต่เท่าที่ดูด้วยสายตายไม่น่าจะถึง 5 แสนบาท


นายวีระยุทธ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการสำรวจน้ำใต้ดินนั้น และเลือกขุดเจาะตรงนี้นั้น ตนก็ไม่มั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการใช้ไปจนถึงหน้าแล้งหรือไม่ เพราะตั้งค่อนข้างอยู่บนที่สูง เท่าที่ทราบไม่มีการสำรวจและคำนวณปริมาณน้ำใต้ดินก่อนขุดเจาะ เพราะช่างมาถึงหน้างานบริเวณจุดแรก ซึ่งรถเจาะเข้าไม่ถึง จึงเลือกขุดเจาะสะดวกจุดนี้ ใช้เวลาขุดประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วเสร็จ และดำเนินการติดตั้งระบบทุกอย่างภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่มาทำการส่งมอบกันเมื่อวันก่อน (31 ส.ค.65) ซึ่งภาพรวมของโครงการก็อย่างที่เห็น ส่วนตัวมองว่ายังมีหลายจุดที่ควรเข้ามาแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะเสริมความแข็งแรงของตัวถังบรรจุน้ำ 2 หมื่นลิตรด้วย เพราะดูๆแล้วหวาดเสียวมาก


อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า สำหรับบ่อบาดาลโครงการดังกล่าว เป็นการหั่นแยกโครงการงบประมาณแห่งละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ยังมีการขุดเจาะอีกหลายแห่งรวม 23 จุด กระจายอยู่อำเภอต่างๆของ จ.กาฬสินธุ์ เบื้องค้นคาดว่าลักษณะขุดเจาะ และติดตั้งระบบอุปกรณ์คล้ายกัน ซึ่งชาวบ้านต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสตง.และปปช.เข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ เพราะเชื่อว่าการออกแบบและดำเนินการโครงการอาจไม่คุ้มและเหมาะสมกับเงินงบประมาณแผ่นดิน

Related posts