ตำรวจแถลงกฎหมายจราจรฉบับใหม่เริ่มใช้ 5 กันยายน 2565 พร้อมมอบรางวัลประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ ในโครงการอาสาตาจราจร รวม 50,000 บาท

ตำรวจแถลงกฎหมายจราจรฉบับใหม่เริ่มใช้ 5 กันยายน 2565 พร้อมมอบรางวัลประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ ในโครงการอาสาตาจราจร รวม 50,000 บาท

วันนี้ (2 ก.ย. 65) เวลา 10.30 น. ณ ห้องศรียานนท์ โซนซี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) ,พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. , พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น., พร้อมด้วย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษา ฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.91 และ สถานีวิทยุ จส.100 ร่วมแถลงผลการมอบรางวัลและเกียรติบัตร โครงการอาสาตาจราจร ประจำเดือน ก.ค. 65 ให้แก่ เจ้าของคลิปกล้องหน้ารถที่บันทึกอุบัติเหตุและเหตุการณ์ขับขี่ฝ่าฝืนกฎหมายสำคัญ และส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมจำนวน 10 คลิป เงินรางวัลรวมจำนวน 50,000 บาท โดยมีบริษัท วิริยะฯ สนับสนุนเงินรางวัล โดยคลิปสำคัญ มีดังนี้

คลิปรางวัลที่ 1 เป็นคลิปอุบัติเหตุบนถนนพหลโยธิน กรณีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับขี่แทรกมาชนกับรถจักรยานยนต์ไรเดอร์ และไปชนรถยนต์อีก 2 คันด้วย ขณะเดียวกันผู้ขับขี่จักรยานยนต์คันที่ขี่แทรกมานั้น ได้จับรถจักรยานยนต์ของไรเดอร์ แต่มือไปโดนคันเร่ง ทำให้รถพุ่งไปชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหาย ผลทางคดี พนักงานสอบสวน สน.พลหโยธิน ได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันที่กระทำผิด ข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถคันอื่นๆ

คลิปรางวัลที่ 2 เป็นคลิปอุบัติเหตุ บริเวณแยกประชานุกูล ถ.รัชดาภิเษก เหตุการณ์รถยนต์ส่วนบุคคลสีขาวขับมาด้วยความเร็ว ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์กลางแยก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ ผลทางคดี พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เรียกตัวผู้กระทำผิดมาตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ พบว่าไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ แต่มีความผิดฐานขับขี่ด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

คลิปรางวัลที่ 3 เป็นคลิปอุบัติเหตุ บริเวณกำแพงเพชร วัดเสมียนนารี รถแท็กซี่ได้สัญญาณไฟเขียวขับผ่านแยกไปตามเส้นทางปกติ แต่มีรถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง พุ่งชนเข้ากลางลำของรถแท็กซี่ หมวกนิรภัยกระเด็นจากศีรษะ ได้รับบาดเจ็บ พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้เปรียบเทียบปรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในข้อหา ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลิปอุบัติเหตุ มักจะเกิดจากการขับขี่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งรัดกวดขันวินัยจราจรในข้อหาที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด และฝากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 5 ก.ย.65 อัตราโทษปรับตามกฎหมายจจราจรจะมีอัตราโทษที่สูงขึ้น หากขับฝ่าฝืนกฎจราจรและเกิดอุบัติเหตุ อาจถูกปรับสูงสุดถึง 4,000 บาท

-2-

นอกจากนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ ยังได้ให้ข้อมูลกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ที่จะมีผลวันที่ 5 ก.ย.65 ที่ประชาชนต้องรู้เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง มีดังนี้
1) เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3)
​2) เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง
​ 2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น
– ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
– ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
– ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
– ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
– ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
– ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
​ 2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
​​- อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้
​ 3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้
​​- มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ
​​- รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ
​​- มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง
ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ
– อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.134/1)
​ 3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)
4) กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย
​ 4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้
​ 4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย
หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
-3-

​ สำหรับการนั่งบริเวณแคป หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ** ส่วนประกาศกำหนดอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 **

​ สำหรับเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ กรมการขนส่ง
ทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 เรื่องที่นั่งนิรภัยนี้ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

Related posts