รองปลัดแรงงาน เปิดการประชุม การจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย แนวโน้มตลาดแรงงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด – 19 นโยบายแรงงาน และการสนับสนุนเยาวชนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางในประเทศไทย
วันที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุม “การจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย (Youth employment in Thailand)” แนวโน้มตลาดแรงงานผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด – 19 นโยบายแรงงาน และการสนับสนุนเยาวชนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางในประเทศไทย ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า เรื่อง NEETs (นีท) เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งจำนวนเยาวชนอายุ 15 ถึง 24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้น ผลกระทบจากวิกฤตโควิด – 19 ทำให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานในประเทศไทยต้องหยุดชะงัก เยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการส่งเสริมการจ้างงานแก่เยาวชน เพื่อลดปัญหาการว่างงาน รวมถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” การเตรียมเยาวชนหญิงและชายให้มีทักษะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน และอยู่ในการจ้างงานที่มีประสิทธิผลและเป็นงานที่มีคุณค่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม ซึ่งการมีทักษะงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงระบบแนะแนวด้านอาชีพในสถานศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้เยาวชนต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่าง ๆ เมื่อออกจากโรงเรียนและเข้าสู่การหางานทำ เยาวชนจึงประสบปัญหาในการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนสู่การทำงานและการเปลี่ยนย้ายงาน ด้วยเหตุนี้ จึงมีเยาวชนหญิงและชายจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม
แผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่งและมีคุณภาพ รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต มุ่งเน้นการพัฒนาคนเชิงคุณภาพในทุกช่วงวัย เพิ่มทักษะการเรียนรู้ที่สอดรับกับศตวรรษที่ 21 และพัฒนาสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการจ้างงานแรงงานเยาวชน โดยร่วมมือกับองค์กรไตรภาคีทั้งนายจ้างและลูกจ้างในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และส่งเสริมงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน รวมทั้งการพัฒนาทักษะในการทำงานทั้ง Soft และ Hard Skill การแนะแนวอาชีพ เพื่อการจ้างงานที่เต็มที่มีประสิทธิผล และเลือกงานได้โดยอิสระ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหา NEETs (นีท) เป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้เพียงฝ่ายเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการประชุมในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนไตรภาคีจะได้ร่วมรับฟังผลการศึกษา วิเคราะห์แนวโน้ม ลักษณะ และผลกระทบจากวิกฤตโควิด – 19 ที่มีต่อเยาวชนกลุ่ม NEETs (นีท) และร่วมกันอภิปรายเพื่อหาแนวทางสำหรับการสนับสนุนและพัฒนาแรงงานเยาวชนในอนาคต รวมถึงการวางแผนติดตามผลการจ้างงานเยาวชนตามหลักการของงานที่มีคุณค่า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง